Business

แจง 3 ข้อ ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ ได้รับอนุญาตถูกต้อง ยันไม่เลื่อนกำหนดเปิด 31 ส.ค.

“ซีพีเอ็น” แจง​ 3​ ประเด็น​หลัก​ ยืนยัน “เซ็นทรัล วิลเลจ”  ได้รับอนุญาตและก่อสร้าง​ วอนขอความเป็นธรรม​ ลั่นพร้อมเปิดบริการ 31 สิงหาคมนี้ตามกำหนดการเดิม

55419

นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ขอวิงวอนให้ภาครัฐให้ความเป็นธรรม และช่วยคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาต่างๆ โดยโครงการมีมูลค่าร่วมลงทุนของซีพีเอ็น และร้านค้ากว่า 150 ร้านค้า รวมกว่า 5,000 ล้านบาท โดยหลังจากเปิดให้บริการคาดว่า จะมีการจ้างงานพนักงานร้านค้าที่เช่าพื้นที่ กว่า 1,000 คน และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในประเทศกว่า 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้​ บริษัทขอชี้แจง ใน​ 3 ประเด็น ได้แก่

1. พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้าออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินของภาครัฐ (ที่ราชพัสดุ ลำรางสาธารณะ) และไม่ได้เป็นที่ดินตาบอด

ที่ดินโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ตั้งอยู่บนที่ดินที่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทอท.​

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เดิมเป็นที่ราชพัสดุ ต่อมากรมทางหลวงได้พัฒนาเป็นทางหลวงแผ่นดิน โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทำให้ไม่มีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 7 (2) พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 และเป็นพื้นที่คนละบริเวณกันกับที่ภาครัฐเวนคืนมาเพื่อสร้างสนามบินที่ ทอท. ดูแล

โครงการได้รับอนุญาตเชื่อมทางอย่างถูกต้องจากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเต็มในการอนุมัติการเชื่อมทางแต่เพียงผู้เดียว โดยพื้นที่ทางหลวงหมายเลข 370 หมายรวมถึง เขตทาง และไหล่ทาง ซึ่งติดกับที่ดินของเอกชน 2 ข้างถนน ซึ่งที่ดินของโครงการมีแนวเขตแนบสนิทต่อเนื่องกับเขตทางของ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ดังนั้น ที่ดินของโครงการจึงไม่ใช่ที่ดินตาบอด

55423

อีกทั้ง ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถือเป็นทางหลวงสาธารณะ ที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชน ไม่ใช่ขององค์กรเอกชนใดที่จะมากล่าวอ้างเป็นเจ้าของได้

  • ปี 2511-2513 ภาครัฐได้จัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างถนน
  • ปี 2544 ครม. มีคำสั่งให้กรมทางหลวงสร้างทางเข้าออกด้านใต้ของสนามบิน ซึ่งคือทางหลวง แผ่นดินหมายเลข 370
  • ปี 2550 กรมขนส่งทางอากาศทำบันทึกมอบพื้นที่ให้กรมทางหลวงดูแลรักษาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งประกาศใช้เป็นถนนสาธารณะ และให้กรมทางหลวงรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว​

กรมทางหลวงจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จากทางหลวงแผ่นดิน 370 โดยมีการขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดินเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 โดยมีป้ายแสดงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดทาง​ ทำให้ชี้ได้ว่า สิทธินี้เป็นของกรมทางหลวง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ประโยชน์เข้าออกได้ต่อเนื่องมาโดยตลอดแล้วจำนวน 88 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่ยื่นขออนุญาตเชื่อมทางกับกรมทางหลวงจำนวน 37 ราย

นอกจากนี้ ทอท. เองก็ได้ขออนุญาตจากกรมทางหลวงในการใช้ประโยชน์ เช่น จากหลักฐานล่าสุดเมื่อ 14 พฤษภาคม  2562 ได้มีหนังสือจากกรมทางหลวงอนุญาตให้ ทอท. เดินท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินและบ่อพัก ทั้งนี้ ไม่มีผู้ใช้ประโยชน์รายใด เคยยื่นขออนุญาตเชื่อมทางจาก ทอท. เลย

สำหรับพื้นที่อีกส่วนหนึ่งที่เกิดจากการจัดหาที่ดินตาม พ.ร.บ. เวนคืน เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมินั้น ในปี 2516 ได้มีประกาศ พ.ร.บ. เวนคืนที่ดินจำนวน 19,251 ไร่ เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370

สิ่งที่ ทอท. กล่าวอ้างสิทธิการดูแลและครอบครองที่ดินไหล่ทางหน้าโครงการ ไม่น่าจะเป็นกล่าวอ้างที่ถูกต้องนัก เพราะเป็นทางหลวงที่เปิดใช้เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่ปี 2548 และกรมทางหลวงได้รับมอบจาก ทย. แล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2550 โดยได้ขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแล้ว จึงมีสถานภาพเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน

55420

2.​ บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด และถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกิน10% ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว

โครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด

3.บริษัทได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อย่างถูกต้อง

โครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฏใดๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบิน หรือรบกวนการบินแต่อย่างใด โดยแบบมีความสูงที่ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด  เป็นไปตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการติดธงแดงตามที่มีการกล่าวอ้าง

005
ภาพจำลองโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

Avatar photo