Opinions

‘Supply Chain Disruption’ ความรุนแรง และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

Avatar photo
321

ท่ามกลางวิกฤติโควิด 19 ปัญหา supply chain disruption เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตาอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการใช้มาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในหลายประเทศ ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคบริการเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย ตั้งแต่การผลิตสินค้า การขนส่ง ไปจนถึงผู้บริโภค

ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อเช่นเดียวกับวิกฤตโควิด ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจ และอธิบายถึงสาเหตุของปัญหา supply chain disruption เพื่อพยายามหาคำตอบว่าปัญหาจะเริ่มคลี่คลายเมื่อไหร่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีมากน้อยเพียงใด

shutterstock 1906796599

ปัญหา supply chain disruption เกิดจากอะไร

ปัญหา supply chain disruption เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลในหลายประเทศต้องออกมาตรการเว้นระยะห่าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้โรงงานหลายแห่งถูกปิด หรือดำเนินการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้ผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติ อาทิ เวชภัณฑ์ ถุงมือยาง และ เซมิคอนดักเตอร์

อีกทั้งภาคการขนส่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเช่นกัน อาทิ การปิดท่าเรือในจีน

การใช้มาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตเกิดภาวะชะงักงัน และทวีความรุนแรงมากขึ้น จนเป็นปัญหาระดับโลก

ความรุนแรงของปัญหา supply chain disruption ชัดเจนขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 แม้ปัญหาภาคผลิต จะมีสถานการณ์ปรับดีขึ้นบ้าง หลังจากการแพร่ระบาดระลอกแรกเริ่มคลี่คลายลง โดยโรงงานต่าง ๆ สามารถทยอยกลับมาเปิดดำเนินการได้มากขึ้น และเร่งการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการสินค้าที่กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่การใช้จ่ายชะลอลงในช่วงก่อนหน้า

แต่ปัญหาในด้านการขนส่งกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยยังมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ท่าเรือนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ซึ่งเมื่ออุปสงค์กลับมาเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาค่าขนส่งของตู้คอนเทนเนอร์ปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563

article 211201 1เซมิคอนดักเตอร์เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบชัดเจน เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการสินค้าในกลุ่มเวชภัณฑ์ และถุงมือยางทยอยกลับสู่ปกติสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยความต้องการสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มขึ้น จาก 2 ปัจจัย ได้แก่

  • กระแส work from home หรือ learn from home

ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น อาทิ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน

  • ความต้องการซื้อรถยนต์ ฟื้นตัวเร็วกว่าที่ผู้ผลิตคาด

ส่วนหนึ่งมาจากที่รถยนต์ส่วนบุคคลกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพื่อลดการเดินทางโดยรถสาธารณะ ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ ขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์  เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ ปรับลดการสต็อกสินค้าในช่วงแรกของการแพร่ระบาด จากความกังวลต่อกำลังซื้อที่จะลดลง

แต่ความต้องการซื้อรถยนต์ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่ถูกใช้ในส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ อาทิ แผงหน้าปัด เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ขาดแคลนไปทั่วโลก

เซมิคอนดักเตอร์กลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิต และขนส่งสินค้าได้ทันตามความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

article 211201 2
การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา ทำให้ปัญหา supply chain disruption รุนแรง และยืดเยื้อมากขึ้น

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 หลายประเทศกลับมาใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น ประกอบกับเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลให้ภาคการผลิต ดำเนินการได้ไม่เต็มกำลังการผลิต โดยเฉพาะในอาเซียน อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย

อีกทั้งจีนได้สั่งปิดท่าเรือหนิงโปว-โจวซาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลต่อภาคการขนส่งสินค้าทั่วโลก โดยราคาตู้คอนเทนเนอ ร์ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 2 เท่า และระยะเวลาในการขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

article 211201 3นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ซ้ำเติมปัญหา supply chain disruption ให้ยืดเยื้อกว่าเดิม อาทิ การขาดแคลนคนขับรถบรรทุกในอังกฤษ สหรัฐ และยุโรป ส่งผลกระทบให้ปัญหาในภาคขนส่งคลี่คลายได้ช้าลง และตู้คอนเทนเนอร์ยังคงตกค้างต่อเนื่อง

ปัญหาค่อนข้างที่จะรุนแรงในอังกฤษ หลังจากอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และการขาดแคลนไฟฟ้าของจีนจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบมากขึ้น

article 211201 4

ปัญหาจะเริ่มคลี่คลายได้เมื่อไหร่

ปัญหา supply chain disruption ที่รุนแรงในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณที่ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว ได้แก่

  • การผ่อนคลายมาตรการ

ในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศเร่งการฉีดวัคซีน และได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้ภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน สะท้อนจากดัชนี PMI manufacturing ที่ปรับดีขึ้น

article 211201 5

  • ตู้คอนเทนเนอร์

ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ยังเป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะท่าเรือลอสแอนเจลิส และลอง บีช ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า

อย่างไรก็ดี ท่าเรือพยายามเร่งดำเนินการขนถ่ายสินค้าโดยเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง และลดค่าธรรมเนียมการขนถ่ายสินค้าในช่วงกลางคืน เพื่อบรรเทาปัญหาการขนส่งที่ติดขัด โดยคาดว่าปัญหาการขนส่งจะมีแนวโน้มคลี่คลาย สะท้อนจากราคาค่าขนส่งมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากเพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี2563

  • เซมิคอนดักเตอร์

ปัจจุบันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของผู้ผลิต และส่งออกรายใหญ่ เช่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังการผลิต แต่อุปสงค์ของสินค้า ที่มีมากกว่าปกติทำให้บริษัทหลายแห่ง ต้องมีแผนการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

ระยะสั้น บริษัทหลายแห่งได้ขยายกำลังการผลิตในโรงงานแห่งเดิม ซึ่งจะช่วยบรรเทาการขาดแคลนสินค้าได้บางส่วน

ระยะยาว บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ อาทิ TSMC มีแผนการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ แต่การลงทุนดังกล่าวนี้ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี

ความต้องการที่เปลี่ยนไป

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายประเทศ และการใช้มาตรการ Living with Covid ทำให้การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า มีแนวโน้มลดลง และเปลี่ยนแปลงไปใช้จ่ายในด้านการบริการมากขึ้น โดยอุปสงค์ของสินค้าที่ลดลง จะช่วยลดการกดดันปัญหาการขนส่งในช่วงที่ผ่านมาได้

ปัจจัยข้างต้นสะท้อนว่า supply chain disruption เข้าใกล้ หรืออยู่ในระดับพีคแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวจะยังมีแนวโน้มยืดเยื้อไปอีกสักระยะ เนื่องจากหลายปัจจัยยังต้องใช้เวลาในการแก้ไข สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่า จะทยอยคลี่คลายได้ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ปัญหา supply chain disruption มีความเสี่ยงที่จะกลับมารุนแรงเพิ่มขึ้นได้จาก

ความต้องการสินค้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในเทศกาลคริสต์มาส และตรุษจีน โดยอาจจะมีการจองตู้คอนเทนเนอร์เพื่อขนส่งสินค้ามากขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและเร่งขนส่งก่อนจะถึงช่วงวันหยุดยาว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้นอีก

การแพร่ระบาดระลอกใหม่ และการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มขึ้นของภาครัฐ โดยเฉพาะจีนที่เป็นประเทศที่ใช้นโยบาย Zero-Tolerance Covid และเป็นประเทศที่มีท่าเรือการขนส่งที่สำคัญของโลก

article 211201 6

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ภาคผลิตและภาคส่งออกของหลายประเทศ ถูกกดดันจากทั้งปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และการขนส่งที่หยุดชะงัก ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2564 มีแนวโน้มชะลอลง

ภาคการผลิตส่งสัญญาณชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 และยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปตามปัญหาที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อ

นอกจากนี้ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เป็นปัญหาสำคัญ ที่กดดันการส่งออกของหลายประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย รวมถึงไทย ที่มีสัดส่วนการส่งออกสินค้า ที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ คิดเป็น 1 ใน 4 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด

article 211201 7ต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามต้นทุนค่าขนส่งที่แพงขึ้น โดยผู้ผลิตในหลายประเทศ ต้องแบกรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในเอเชีย และไทย เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาสินค้า ยังทำได้ค่อนข้างจำกัด ในช่วงที่เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

ทั้งนี้ หากต้นทุนยังอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน คาดว่าผู้ผลิตอาจจะปรับเพิ่มราคาสินค้า ประกอบกับราคาสินค้าบางชนิด อาทิ รถยนต์ส่วนบุคคล ปรับเพิ่มขึ้นจากการผลิตที่ทำได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ อาจจะเป็นปัจจัยกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าได้

article 211201 8

บทความ : ชนม์นิธิศ ไชยสิงห์ทอง  ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อ่านข่าวเพิ่มเติม