Business

จ่อคืนชีพ ‘สายการเดินเรือแห่งชาติ’ รับ ‘แลนด์บริดจ์-อีอีซี’ ลดต้นทุน ‘โลจิสติกส์’

กระทรวงคมนาคม เล็งคืนชีพ  “สายการเดินเรือแห่งชาติ”  รองรับโครงการนโยบายรัฐ “แลนด์บริดจ์-อีอีซี” ส่งเสริมขนส่ง สินค้านำเข้า-ส่งออก ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดพึ่งพากองเรือต่างชาติ เร่งรูปแบบลงทุน โดยให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดหาแนวทางตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคม มีนโยบายที่จะให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาล และ กระทรวงคมนาคมขณะนี้ ต้องการส่งเสริมให้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โลจิสติกส์ เกิดประโยชน์กับการนำเข้า และ ส่งออก

shutterstock 739896253

ประกอบกับ รัฐบาลได้มีนโยบายในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้นหากมีการจัดตั้ง สายการเดินเรือแห่งชาติของคนไทย จะช่วยสนับสนุน ให้การดำเนินการในโครงการต่าง ๆ มีความสมบูรณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า นำเข้า และส่งออก ลดการพึ่งพาสายการเดินเรือต่างชาติด้วย

สาเหตุที่ กระทรวงคมนาคม มีแนวคิดในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย และ อันดามัน คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570 ส่วนโครงการ อีอีซี มีเอกชนทั้งไทย และต่างชาติเข้ามาลงทุนในการผลิตสินค้า อุปกรณ์ต่าง ๆ จำนวนมาก และคาดว่าโครงการจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 ดังนั้น หากมีสายการเดินเรือแห่งชาติ จะทำให้การบริการจัดการ ขนส่งสินค้าทั้ง ส่งออก นำเข้าได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกันกรมเจ้าท่า (จท.) ยังมีหน่วยงานผลิตบุคลากรทางด้านพาณิชย์นาวี หากประเทศไทยมีสายการเดินเรือของตนเอง จะช่วยส่งเสริมบุคคลากรคนไทยให้มีงานทำในกองเรือของไทย

“ปัจจุบันประเทศไทย ไม่มีสายการเดินเรือแห่งชาติ ที่มีธงไทย เป็นของคนไทย แต่ในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมเคยมี บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด กำกับ และดูแลกองเรือไทย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ดังนั้นหากจะมีการส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และมีเรือเป็นของคนไทย เช่น ประเทศไทยมีสายการบินแห่งชาติ จำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้การส่งเสริมพัฒนาการขนส่งทางน้ำมีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนรูปแบบในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาตินั้น จะเป็นลักษณะการตั้งบริษัทลูก ภายใต้การท่าเรือแห่งประเทศไทย คาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดตั้งสายการเดินแห่งชาติได้ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอน”

นายศักดิศยาม ย้ำด้วยว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่กระทรวงคมนาคมกำลังเดินหน้าศึกษาโครงการ ก็เป็นนโยบายของ นายกรัฐมนตรี เพื่อพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ และพัฒนาเมืองในภาคใต้ ให้ต่อเชื่อมกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ที่กำลังพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo