CEO INSIGHT

4 ปีแห่งความภูมิใจของ ‘พี่โด่ง-อรรถพล’ พร้อมข้อความจากใจถึง CEO ปตท. คนใหม่

4 ปีแห่งความภูมิใจของ “พี่โด่ง” อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมข้อความจากใจถึง CEO ปตท. คนใหม่ เชื่อเดินตาม PTT WAY จะทำให้ประสบความสำเร็จ

เรารู้จัก “พี่โด่ง” อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ครั้งแรกสมัยที่ “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” นั่งเก้าอี้ “ผู้ว่า ปตท.” หรือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ทุกครั้งที่เห็นคุณประเสริฐ ก็มักจะเห็น “พี่โด่ง” ของพี่ ๆ น้อง ๆ นักข่าวสายพลังงานเดินตามอยู่ด้านหลังเสมอ

อรรถพล

ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านวิกฤติในการทำงานมาหลายครั้ง อีกไม่กี่วัน “พี่โด่ง” จะทำงานในตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่” ครบ 4 ปี และเตรียมส่งไม้ต่อให้ “คงกระพัน อินทรแจ้ง” CEO ปตท. คนใหม่ที่จะเริ่มปฏิบัติงานช่วงเดือนพฤษภาคม 2567

วันนี้ #TheBangkokInsight ได้มีโอกาสช่วงเวลาสั้น ๆ ได้คุยกับ “พี่่โด่ง” ระหว่างดูงานเพื่อศึกษาธุรกิจใหม่อย่าง พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) ที่ประเทศเยอรมนี

เมื่อถามถึงความภูมิใจตลอดการทำงาน 4 ปีที่ผ่านมา “พี่โด่ง” เล่าว่า ตลอดการทำงาน 4 ปีที่ผ่านมา ปตท. ผ่านมาทุกวิกฤติ ทั้งสถานการณ์โควิดที่กระทบทั่วโลก และราคาน้ำมันที่ผันผวน ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ก็สามารถฝ่าวิกฤติเหล่านั้นมาได้ แม้ช่วงไตรมาสแรกปีนั้นจะขาดทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่ก็จบปีเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ขาดทุน ส่วนเรื่องที่สอง คือ การที่เราต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของ ปตท. ใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต เมื่อเซ็ตตัววิสัยทัศน์ใหม่แล้ว ทั้งองค์กร พนักงานทุกคนเข้าใจ ก็ร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรในรูปแบบใหม่ โดยมุ่งธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือ ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)

อรรถพล

“เราตั้งเป้าที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน”

นอกจากนี้ ปตท. ยังเดินหน้าสนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน หรือธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรม New S-curve คือ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) รวมถึงธุรกิจค้าปลีก Nonoil ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business)

อรรถพล

“พี่โด่ง” เล่าว่า ธุรกิจใหม่คือส่วนที่ทำให้ ปตท. มีรายได้และเติบโตมากขึ้น จากวางเป้าหมายไว้ว่าจะมุ่งไปธุรกิจที่เป็น New S-cruve ปัจจุบันสามารถทำยา EV bio AI โลจิสติกส์ ถือว่า New S-curve ทั้งหมดทำครบแล้วใช้โมเดลการเติบโต ด้วยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา เพื่อดำเนินงานแล้วเข้าถือหุ้นหรือซื้อธุรกิจนั้น ๆ มาเพื่อสร้างการเติบโต อย่างที่ร่วมทุนกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอเป็นวัตถุหลักสำหรับทำหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ

“ช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤติทั้งเรื่องโควิด และพลังงาน ปตท. เข้าไปมีส่วนในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน เราใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบของภาคประชาชนจากวิกฤตโควิด และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาทิ การสำรองน้ำมันเพื่อป้องกันการขาดแคลนในภาวะวิกฤติ การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการขยายเทอมการชำระเงินแก่ กฟผ. เพื่อลดภาระค่า FT”

อรรถพล

มองบทบาทของ “ปตท.” ในอนาคตไว้อย่างไร

อนาคตของ ปตท. ในช่วง 4 ปีข้างหน้า อย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยก็คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศยังต้องคงอยู่ เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญขององค์กร ส่วนอีกประเด็นคือการปรับตัวตามวิสัยทัศน์ใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Powering life with Future energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต โดยแผนลงทุน 5 ปี (2566-2570) อยู่ที่ 89,203 ล้านบาท จัดสรรการลงทุนเป็นกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34% ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท หรือ 17% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท หรือ 14% ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท หรือ 4% บริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท 31% และเฉพาะในปี 2567 จะใช้เงินลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท

โดย ปตท. วางเป้าหมายการลงทุนว่า ในปี 2570 ธุรกิจต่างจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้จากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy & Beyond) จะมีสัดส่วนมากกว่า 30% จากปัจจุบันที่ ปตท.มีสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. มาจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 45% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 9% และมีส่วนที่มาจากธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่น ๆ เพียง 17%

อรรถพล

อนาคตหลังจากหมดวาระ

“พี่โด่ง” บอกว่า หลังจากหมดวาระ ซึ่งก็อีกไม่กี่วัน จากนี้ไปก็คงจะไปทำอะไรที่อยากทำ อยากให้เวลากับหลาย ๆ เรื่องที่เคยตั้งใจว่าจะทำแล้วยังไม่ได้ทำ ส่วนอะไรที่ไม่อยากทำเราก็จะไม่ทำ งงมั้ย ยกตัวอย่างคือ จากนี้คงจะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น

ฝากถึง CEO ปตท. คนใหม่!

สิ่งที่อยากฝากไว้กับนายคงกระพัน อินทรแจ้ง CEO ปตท. คนที่ 11 นั้น นายอรรถพล มองว่า การทำงานต้องบาลานซ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ให้เหมาะสม โดยประชาชนได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันองค์กรไม่เสียด้วย ที่ผ่านมา ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำมาตลอด CEO ปตท. คนใหม่ ก็ถือเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มบริษัท ปตท. อยู่แล้ว ก็สบายใจ เชื่อว่าการเดินตาม PTT WAY ทำให้ประสบความสำเร็จ การรับไม้ต่อทำให้มันเจริญก้าวหน้าไปได้ เหมือนที่มีการส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK