Business

ปตท. จ่อตั้งโรงงานผลิตเมทานอลที่ใช้คาร์บอนโรงแยกก๊าซฯ เดินหน้าสู่ Net Zero

ปตท. จับมือ “Thyssenkrupp Uhde” โรงงานผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ กำลังผลิต 1 แสนตัน/ปี คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท. ร่วมกับ ธิสเซ่นครุปป์ อูเด้ห์ (Thyssenkrupp Uhde) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่ให้บริการด้านการวางแผน การก่อสร้าง และการให้บริการวิศวกรรมแก่โรงงานเคมีและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร ในการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะนำคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจนได้เป็นเมทานอล (Methanol) เบื้องต้นมีขนาดกำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี

ปตท.

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้นในโครงการดังกล่าวพบว่ามีความเป็นไปได้เชิงเทคโนโลยี แต่ในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากต้นทุนการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนฯ พบว่าสูงกว่าเมทานอลจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้นในอนาคตหากรัฐมีการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ก็จะทำให้โครงการนี้มีความคุ้มค่าการลงทุนเชิงพาณิชย์ได้

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลงทุนโครงการนี้เชิงพาณิชย์ต้องพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนระหว่างการนำคาร์บอนไปกักเก็บในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้แล้ว (CSS) กับการนำคาร์บอนไปผลิตเป็นเมทานอล (CCUS) หรือการเสียภาษีคาร์บอน ซึ่งปตท.วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2040 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050

ปตท.

ทั้งนี้ โครงการผลิตเมทานอลจากคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดกำลังผลิต 1 แสนตัน/ปี คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 80 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,200 ล้านบาท โดยปัจจุบัน ประเทศไทยไทยมีการใช้เมทานอล 7 แสนตันต่อปี แต่เป็นการนำเข้าจากตะวันออกเพราะยังไม่มีการผลิตเมทานอลในไทย โดยเมทานอลเป็นสารสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการนำไปเป็นน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เป็นต้น

สำหรับแผน Clean Growth ที่จะผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero นั้น ปตท.มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี ค.ศ. 2030 (2573) เทียบกับปี ค.ศ. 2020 (2563) รวมถึงบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2040 (2583) และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (2593) โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 3P เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการของ ปตท. คือ

ปตท.

1. Pursuit of Lower Emissions

การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยงกับเป้าหมาย Clean Growth โดยโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 30%

2. Portfolio Transformation

สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) เพิ่มสัดส่วน Green Portfolio และบริหารจัดการ Hydrocarbon Portfolio โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 50% การปรับเปลี่ยนการส่งก๊าซให้ลูกค้าในอนาคตจากก๊าซธรรมชาติเป็น LNG ทำให้โรงแยกก๊าซไม่ต้องดำเนินการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของ ปตท.

ปตท.

3. Partnership with Nature and Society

การเพิ่มปริมาณการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียว พร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 20%

ซึ่ง ปตท.มีเป้าหมายในการปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม โดยการปลูกป่าใหม่ (Reforestation) นั้น กลุ่ม ปตท.ลงนาม MOU การปลูกป่าเพิ่มจำนวน 2 ล้านไร่ (ปตท.ปลูกเอง 1 ล้านไร่ และบริษัทในกลุ่มรวมอีก 1 ล้านไร่) ได้ Kick off โครงการ ณ แปลงปลูกป่า ปตท. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK