Business

ปตท. ทุ่มงบ 5 ปีแสนล้าน! เดินหน้าธุรกิจใหม่ พลังงานหมุนเวียน-ไฮโดรเจน

“ปตท.” ทุ่มงบ Provision 5 ปี 1 แสนล้านบาท เดินหน้าลงทุนธุรกิจใหม่ หวังบรรลุเป้าหมายธุรกิจ Future Energy and Beyond คาดสร้างกำไรกว่า 30% ในปี 2573

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า สำหรับงบประมาณการลงทุน 5 ปี (2566-2570) เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนประจำปี 2567-2571 ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% มีแผนเบิกจ่ายลงทุน 5 ปี จำนวน 89,203 ล้านบาท และมีการตั้งงบ Provision อีก 107,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจใหม่

ปตท.

แผนการลงทุน 5 ปี (2566-2570) แยกเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ดังนี้

  • ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จำนวน 30,636 ล้านบาท (คิดเป็น 34%)
  • ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จำนวน 14,934 ล้านบาท (คิดเป็น 17%)
  • ธุรกิจธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ จำนวน 12,789 ล้านบาท (คิดเป็น 14%)
  • ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย จำนวน 3,022 ล้านบาท (คิดเป็น 4%)
  • ลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% จำนวน 27,822 ล้านบาท (คิดเป็น 31%)

นายอรรถพล กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยปี 2567 นั้น เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ซึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ การควบคุมการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก อุปทานจากกลุ่ม non-OPEC และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ปตท.

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีก่อน เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยดีมานด์ยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และด้านซัพพลายจากกลุ่ม non-OPEC เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จากสหรัฐ บราซิล อิหร่าน และเวเนซูเอลา

นอกจากนี้ ปตท.เร่งเดินหน้าเพิ่มพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดหรือพลังงานอนาคต (Future Energy) ให้มากขึ้น โดยได้กำหนดเป้าหมายในปี 2573 กลุ่มปตท.จะมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 เมกะวัตต์ หรือ 15 กิกะวัตต์ (GW) จากเมื่อ 2-3 ปีก่อน กลุ่มปตท. มีพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันนี้ได้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 เมกะวัตต์

ปตท.

“มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายตามเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกันปตท.ได้ร่วมกับพันธมิตรอย่างบริษัท บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด จากซาอุดิอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในไทย เบื้องต้นพบว่าต้นทุนการผลิตสูงต่างจากโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ซาอุดิอาระเบียมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างทำWhite Paper เสนอแนะภาครัฐว่าจะต้องดำเนินการสนับสนุนอะไรบ้างเพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้” นายอรรถพล กล่าว

ทั้งนี้ ปตท. ได้ร่วมกับพันธมิตรทดลองเปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกในไทยที่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไรของโตโยต้า มาทดสอบการใช้งานให้บริการรถรับส่งผู้โดยสารเพื่อเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต ล่าสุด เตรียมทดลองใช้ไฮโดรเจนกับรถบรรทุก โดยยอมรับว่าปัญหาการใช้พลังงานไฮโดรเจนอยู่ที่ต้นทุนการผลิตยังสูง แต่เชื่อว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานอนาคตเมื่อมีต้นทุนที่ถูกลง

ปตท.

นอกจากนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ได้จับมือกับพันธมิตรเพื่อศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในโอมาน กำลังการผลิต 2.2 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 ทั้งนี้ แม้ว่า ปตท. จะให้ความสำคัญพลังงานแห่งอนาคต แต่พลังงานเดิมไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ปตท.ก็ยังคงดำเนินการอยู่เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากประเทศไทยยังใช้น้ำมันและก๊าซนี้เป็นหลัก

ส่วนธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือพลังงาน (Beyond) ปตท. ก็ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ยา Nutrition อุปกรณ์ทางการแพทย์, ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle), ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล, ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) โดยตั้งเป้าหมายว่าธุรกิจ Future Energy and Beyond จะสร้างกำไรมากกว่า 30% ในปี 2573 โดยอินโนบิก(เอเซีย) แกนนำธุรกิจ Life Science ทำกำไรในปี 2566 ราว 1,100 ล้านบาท และในต้นปีนี้ อินโนบิกจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นบริษัท อดัลโว จำกัด ( Adalvo) ให้กับบริษัทในกลุ่ม Aztiq ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK