Economics

ไม่จบ! ผังเมืองส่งจนท.เช็คการใช้พื้นที่ ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’

ไม่จบ! ผังเมืองส่งเจ้าหน้าที่สำรวจการใช้พื้นที่ โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ เผยอาจต้องใช้เวลา ย้ำเป็นพื้นที่สีเขียว ลั่นไม่ได้เกี่ยวข้องการอนุญาตก่อสร้าง เตรียมใช้ภาพถ่ายดาวเทียม สำรวจสิ่งปลูกสร้างในบล็อกเดียวกัน

จากกรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ (ทอท.) เกิดความขัดแย้งกับ โครงการเซ็นทรัล วิลเลจ (Central Village) ลักชูรี เอาต์เล็ต ระดับโลกแห่งแรกในประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (CPN)  หลายประเด็น เช่น การรุกล้ำเข้ามาพื้นที่ที่ทอท.รับผิดชอบ  พื้นที่ตั้งโครงการห่างจากเขตทำการบิน ประมาณ 1 กิโลเมตร อาจจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านการบิน  ทำให้ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. ส่งหนังสือไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้ช่วยตรวจสอบใน 6 ประเด็น 

เครื่องบิน สนามบิน

ขณะที่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)  ผู้บริหารและพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ออกมายืนยันว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ( 2558-2562) ในการพัฒนาโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ บริษัทได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง

สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว จากการสอบถามไปยัง ผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ  แหล่งข่าวระบุว่า เรื่องดังกล่าวกำลังเป็นประเด็นปัญหา และตรวจเช็คกับผังเมืองว่า กิจกรรมรองมีพื้นที่พอหรือไม่ เรื่องนี้ทางผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบอยู่ แต่ยอมรับว่าพื้นที่ของโครงการเป็น “พื้นที่สีเขียว” อยู่ในเขตตำบลบางโฉลง หรืออบต.บางโฉลง แต่ยังมีพื้นที่คาบเกี่ยวกับอบต.อื่นรวมอยู่ด้วย เช่น อบต.ราชาเทวะ ที่ผ่านมาทางเซ็นทรัล อาจจะสอบถามแค่อบต.บางโฉลงที่เดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ควรจะต้องถามท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะพื้นที่เป็นบล็อกเดียวกันไม่ได้มีท้องถิ่นเดียว

005
ภาพจำลองโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

ในส่วนของผังเมือง เซ็นทรัลได้สอบถามผังเมืองว่าพื้นที่เหลือพอไหม ขณะนี้เชื่อว่าพื้นที่ไม่น่าจะพอแล้ว เพราะมีบ้านจัดสรรเกิดขึ้นพอสมควรโดยเฉพาะพื้นที่กิจกรรมรอง หมายถึง พื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร  ในส่วนของเซ็นทรัลได้ใช้พื้นที่ทำ Outlet ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของกิจกรรมรองสามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกิน 10%  ส่วนโรงแรมถ้าสร้างได้ก็จะถูกจำกัดเรื่องความสูงแน่นอน ก่อสร้างได้ไม่น่าจะเกิน 2,000 ตารางเมตร ความสูงก็ไม่น่าจะเกิน 23 เมตร ถ้าสูงกว่านี้ก็จะกลายเป็นอาคารสูง

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่าการลงทุนจะมีแต่หนังสืออนุญาตก่อสร้างอย่างเดียว แล้วสร้างอาคารเลย ปกติทำไม่ได้ การลงทุนขนาดใหญ่สมัยนี้ จะต้องทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอด้วย หากเข้าเงื่อนไข เรื่องเหล่านี้ก่อนดำเนินการต้องเช็คข้อมูลกับทางผังเมืองด้วย ตอนนี้ผังเมืองจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบพื้นที่ เพื่อหาข้อเท็จจริงทั้งหมด จริงๆเรื่องนี้ควรตรวจสอบความถูกต้องกับผังเมืองหรือโยธาก่อนดำเนินการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผังเมืองต้องตรวจสอบ ต้องดูว่าพื้นที่ได้ใช้กิจกรรมอะไรไปแล้วบ้าง พื้นที่กิจกรรมรองเหลือเท่าไหร่ ส่วนพื้นที่การก่อสร้างตอนนี้ดูเหมือนก้ำกึ่งตามข้อกฎหมาย ซึ่งต้องเช็คให้ละเอียด ต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศ หรือภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างในบล็อกนั้นว่ามีอะไรบ้าง กิจกรรมหลักใช้พื้นที่ไปแล้วเท่าไหร่ กิจกรรมรองใช้ไปแล้วเท่าไหร่ตรงนี้สามารถเช็คข้อมูลได้

001
ภาพจำลองโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ

แหล่งข่าว อธิบายต่อว่าการขออนุญาตก่อสร้าง สามารถขออนุญาตได้ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จ ต้องเอาอาคารมารับรองว่า สร้างได้ตามแบบแปลนหรือไม่ เพื่อที่จะได้เปิดใช้อาคาร “แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าพื้นที่กิจกรรมรองได้ใช้เกินหรือไม่”

“ตอนนี้ผังเมืองจึงได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเช็คข้อเท็จจริงการใช้พื้นที่อยู่ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม คาดว่าจะใช้เวลานานพอสมควร  ผังเมืองเป็นแผนแม่บท อันที่จริงต้องตรวจสอบผังเมืองก่อนที่จะไปสร้างอะไรด้วยซ้ำ ต้องมีหนังสือถามมาก่อน ว่าเนื้อที่พอไหม ผังเมืองจะได้ประสานท้องถิ่น ส่งข้อมมูลมาพิจารณา อบต.กับเทศบาลเขามีหน้าที่ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2522 คืออนุญาตก่อสร้าง”

ในส่วนของผังเมือง ไม่ได้ถือพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ถือแต่กฎหมายผังเมือง จะไม่รู้ว่ามีการอนุญาตให้ก่อสร้างเกินหรือไม่อย่างไร  การรวบรวมข้อมูลก็ต้องใช้เวลา ต้องดูว่าท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจะส่งข้อมูลมาอย่างไรอาจจะเป็นเดือนก็ได้

1392157A DAEB 4258 9538 502AC9AB6CD2 1

สิ่งที่ผังเมืองต้องดำเนินการตอนนี้ ต้องยื่นหนังสือถามไปยังท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องก่อน จากนั้นก็นำข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาประมวลดูว่าพื้นที่ 10% ในกิจกรรมรองพอหรือไม่ ผนวกกับข้อมูลของผังเมืองที่เป็นกลาง เพราะมีระบบสารสนเทศในการตรวจสอบอยู่แล้วว่าพื้นที่แต่ละแปลงทำอะไร จากนั้นก็นำมาพิจารณาจากสิ่งที่ท้องถิ่นอื่นตอบมา ถ้าไม่เกินก็จบ แต่ถ้าเกินก็ต้องแก้ไขเพื่อให้ถูกต้อง

“เรื่องนี้บอกตรงๆใครจะมาสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เราคงทำงานเข้าข้างใครไม่ได้ เราต้องเป็นกลาง ใครจะขอให้รับรองหลักการอย่างไร คงทำให้ไม่ได้ผังเมืองต้องตรวจสอบไปตามข้อเท็จจริง ใครอยากให้ตอบแบบเอาใจ ก็ต้องเป็นผู้เซ็นอนุมัติเอง เพราะตอนที่สร้างผังเมืองไม่ได้รับรู้” แหล่งข่าวกล่าว และว่าในส่วนของอีไอเอถ้าต้องทำก็ต้องย้อนกลับไปทำก่อน ถ้ายังไม่ได้ถามผังเมืองเรื่องการใช้พื้นที่ก็ต้องกลับไปถามก่อน

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถือเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง หากยังไม่สามารถดำเนินการให้ถูกต้องได้ การเปิดให้บริการภายในสิ้นเดือนนี้อาจจะสร้างปัญหาตามมาก็ได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight