CEO INSIGHT

เปิด ‘อนาคตธุรกิจ ปตท.’ 5 ปี ลงทุน 1.6 แสนล้าน มุ่งทำกำไรหลัก ‘Future and Beyond Business’

“นพดล-พรรณนลิน” เปิดอนาคตธุรกิจ ปตท. ย้ำเป้าหมาย “การเติบโต” ระยะสั้น 5 ปี จ่อลงทุน 1.6 แสนล้านบาท ในธุรกิจหลัก ระยะยาว 10 ปี เล็งทำกำไร 30% จากธุรกิจ “Future and Beyond” และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15%

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  ภายใต้การนำของ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สนับสนุนแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ ที่ไปไกลกว่าพลังงาน ท่ามกลางความท้าทายของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงในเวลานี้

ธุรกิจ ปตท.

ตลอดระยะเวลา 45 ปี ปตท. ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนประเทศไทย ให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง และมุ่งจุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และยังเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการปลูกป่าเพิ่มเติม

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวในโอกาสเดินทางไปดูงานด้านพลังงานแห่งอนาคตที่โปรตุเกส และสเปน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า ธุรกิจหลักของ ปตท. ยังคงเป็นเรื่องของน้ำมัน และก๊าซ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลง พร้อม ๆ กับที่ ปตท.ยังคงต้องรักษาหน้าที่ของตัวเอง ทำให้โดยหลัก ๆ แล้ว แบ่งกลยุทธ์ออกเป็น 2 ข้อ คือ “Lasting Legacy” และ “Go Beyond”

ธุรกิจ ปตท.
นพดล ปิ่นสุภา

“Lasting Legacy” จะทำอย่างไรให้ธุรกิจหลักของบริษัทยืนหยัดต่อไปได้

สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินแรก อย่างแรก คือ “Lasting Legacy” จะทำอย่างไรให้ธุรกิจหลักของบริษัทยืนหยัดต่อไปได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 ข้อด้วยกัน

  • เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน

เป็นที่คาดการณ์กันว่า “จุดผลิตน้ำมันสูงสุด” (Peak oil) อาจเกิดขึ้นในช่วงปี 2030-2035 ก็ต้องมาดูกันว่า จะต้องทำอย่างไร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ให้บริษัทไปอยู่ในจุดที่มีความสามารถในการแข่งขันได้ดีที่สุด และยืนหยัดอยู่เป็นคนสุดท้ายที่จะหยุดผลิต เมื่อความต้องการลดลงเรื่อย ๆ

ธุรกิจ ปตท.

  • สร้างความมั่นใจว่ามีการจัดหาที่เพียงพอ

ภารกิจของบริษัท ไม่ใช่แค่เพียงว่า ให้ธุรกิจเดินไปได้ แต่ต้องมั่นใจว่ามีการจัดหา (supply) ให้เพียงพอกับในประเทศด้วย เพราะฉะนั้นต้องมีเรื่องของคอนเนคชั่น (connection) การสร้างเครือข่าย สร้างระบบเพื่อจะมาดูว่า จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ดีที่สุดเกิดขึ้นได้

วันนี้ ปตท. พัฒนาสิ่งที่เรียกว่าเป็น “Hydrocarbon Value Corporation Tower” คือ ดูตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อให้รู้ว่า ทำอย่างไรให้การใช้เชื้อเพลิงแต่ละประเภทในการผลิตไฟฟ้า เกิดประโยชน์ได้ดีที่สุด หรือทำอย่างไรให้เกิดต้นทุนที่ดีที่สุด ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ และทำให้ต้นทุนถูกที่สุดด้วย

  • ปรับโครงสร้างดาวน์สตรีม

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีการควบรวมกิจการ การถอนตัว และการขยายกิจการในธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานค่อนข้างมาก ซึ่งหมายถึงกำลังเกิดการปรับโครงสร้างในกลุ่มดาวน์สตรีม ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ธุรกิจ ปตท.

  • รุกธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Business)

เป็นเรื่องที่ดาวน์สตรีม ของ ปตท. กำลังดูอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การผลิตพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) หรือ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel-SAF) ที่แต่ละประเทศเริ่มมีการกำหนดเป้าหมายการใช้น้ำมันเชื้อเพลิอย่างยั่งยืนมากขึ้น

อีกเรื่อง คือ คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งธุรกิจเทรดดิ้ง (trading) นอกจากทำหลาย ๆ โครงการในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และช่วยในกลุ่ม ปตท. ให้สามารถมีพลังต่อรองกับผู้ค้าน้ำมันในตลาดโลกได้แล้ว ก็ยังมีแนวทางที่จะเข้าไปดูเรื่องของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวให้ดี

ปัจจุบัน คาร์บอน เครดิต กำลังเป็นเทรนด์มาแรง เป็นตัวสร้างมูลค่า สินค้าบางตัว ผู้ขนส่งบางราย ก็ต้องการที่จะซื้อคาร์บอนเครดิต มาประกบกับสินค้า และบริการของตัวเอง เพราะเป็นความคาดหวัง และความต้องการของผู้ใช้งาน หรือผู้บริโภค ที่อยากจะได้ตัวสินค้า และบริการ ที่เป็น Low Carbon ด้วย

ดั้งนั้น การตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็เริ่มจะเกิดขึ้น ซึ่งทางกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะทางหน่วยงานเทรดดิ้ง ก็พยายามเข้าไปในธุรกิจนี้มากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นอีกอนาคตหนึ่งของกลุ่ม ปตท.

ธุรกิจ ปตท.

“Go Beyond” ฝากความหวัง “โออาร์-High Value Business”

นายนพดล ระบุว่า ธุรกิจที่จะสร้างการเติบโตให้กับกลุ่ม ปตท. ในอนาคตนั้น จะฝากความหวังไว้กับ 2 เรื่องด้วยกัน

  • ขายธุรกิจผ่านโออาร์

อย่างที่ทราบกันดีว่า บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) ได้เปลี่ยนรูปแบบจาก “Fossil based Ecosystem” ไปอยู่ในรูปของกรีน (Green) มากขึ้น ทั้งยังรุกเข้าไปในธุรกิจไลฟ์สไตล์ (LifeStyle) ที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจนี้ให้มากขึ้น

  • รุก High Value Business

High Value Business จะเป็นการผันตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ไปเน้นเรื่องของ สินค้าเฉพาะทาง (specialty)  ปัจจุบัน ทั้ง จีซี  ไทยออยล์ และ ไออาร์พีซี  ก็พยายามที่จะเข้าไปในธุรกิจที่มีมูลค่าสูงนี้

ทั้งนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี มีความผันผวนทางด้านราคา ที่เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่ใน High Value Business นั้น ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องเข้าไปพัฒนาสินค้า ร่วมกับผู้ใช้ ซึ่งปริมาณ (volume) อาจจะลดลงไปได้ตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ว่ามาร์จิ้น (margin) ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่

การเข้าไปในธุรกิจประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจ High Performance Polymer & Composites และ Coating & Adhesives ซึ่ง GC เข้าไปแล้ว เรื่องของชิ้นส่วนแบตเตอรี่ (battery components) ไส้กรอง หรือ เคมีคอล ซึ่งธุรกิจพวกนี้ ถือเป็นโอกาสของ กลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะปิโตรเคมี ที่จะเข้าไปลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้

ธุรกิจ ปตท.

“Net Zero 2050” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15%

นายนพดล บอกด้วยว่า ปตท. ได้ตั้งเป้าสำคัญ ในเรื่อง “Net Zero 2050” และ “Carbon neutrality 2030” โดยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% จากปี 2020  การที่จะทำได้นั้น จะต้องประกอบไปด้วย “3 ป” คือ ปรับ เปลี่ยน และปลูกป่า

  • ปรับ

เร่งปรับกระบวนการผลิตของกลุ่ม ปตท. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage-CCUS) เข้ามาใช้ นำคาร์บอนไปทำผลิตภัณฑ์อื่น หรือนำเรื่องการหมุนเวียนเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตพลังงานให้มากขึ้น ทั้งยังมีเรื่องของการซื้อคาร์บอน  เชื่อว่าจะช่วยได้ราว 3-4%

  • เปลี่ยน

เร่งเปลี่ยน portfolio จากเดิมที่คิดว่าปี 2030 จะผลิตได้ 12 กิกะวัตต์ ก็เพิ่มเป็น 15 กิกะวัตต์ ให้มีความท้าทายมากขึ้น ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีขึ้น

ธุรกิจ ปตท.

  • ปลูกป่า

ปัจจุบัน ปตท. ปลูกป่าไปแล้วประมาณ 1.1 ล้านไร่ และภายในปี 2030 มีเป้าหมายที่จะปลูกเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ทั้งจะขอให้บริษัทในเครือเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ให้ได้รวมกันมากกว่า 3 ล้านไร่ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 4 ล้านกว่าตันต่อปี ซึ่งจะช่วยดักจับคาร์บอนได้ราว 20%

ธุรกิจ ปตท.
พรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล

5 ปี ลงทุน 1.6 แสนล้านบาท บรรลุเป้าหมาย “Future Energy and Beyond”

ทางด้าน นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการทำธุรกิจของบริษัทว่า ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ อัพสตรีม (upstream) ดาวน์สตรีม (downstream) และธุรกิจใหม่ คือ Transtructure ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไป

ปตท. ให้ความสนใจทั้งเรื่องของไลฟ์สไตล์ แอนด์ โมบิลิตี้ (Lifestyle and Mobility) High Value Business  และ Intranstructure  โดยเป้าหมายของบริษัท ยังเน้น การเติบโตทางธุรกิจ (Business Growth) ในเรื่องของธุรกิจที่กระทบกับคาร์บอน คือ คาร์บอนต่ำ (Low Carbon) และธุรกิจพลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งจะเป็นธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่จะเป็นตัวเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างการเติบโตใหม่ให้กับบริษัท

ในส่วนของแผนการลงทุนในช่วง 10 ปี จะเห็นว่าหลัก ๆ แล้วยังลงทุนในตัวที่เป็นไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) แล้วก็จะไปที่ “Future Energy and Beyond” ประมาณ 32%

ธุรกิจ ปตท.

ส่วนแผนการลงทุนในระยะ 5 ปีนั้น ปตท. จะมีแผนลงทุนที่ค่อนข้างชัดเจน เบื้องต้นได้รับอนุมัติงบลงทุนแล้ว 160,000 ล้านบาท แต่ถ้ามองเห็นโอกาสใหม่เข้ามา ก็อาจจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากจำนวนนี้อีกเท่าตัว เป็นราว 300,000 ล้านบาท

ธุรกิจหลัก ๆ ของ ปตท. จะอยู่ในสายกลาง โดยเป็นธุรกิจก๊าซ ราว 75% มี LNG ที่บริษัททำอยู่ 100% Transmission หรือท่อส่งก๊าซ ส่วน เทรดดิ้ง (Trading) จริง ๆ แล้ว ไม่ได้เข้าลงทุนมากนัก มีแผนการลงทุนเพียงแค่ 3%  ส่วน Future Energy and Beyond และ ธุรกิจใหม่ ๆ อยู่ที่ 22%

สำหรับภาพรวมของธุรกิจใน กลุ่ม ปตท. ทั้งหมด ในช่วง 5 ปี ข้างหน้า จะใช้งบลงทุนราว 1 ล้านล้านบาท หลัก ๆ แล้วจะเป็นการลงทุนของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่มีปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่เป็นทุน (capital intensive)

โปรเจกต์ใหญ่ของ ปตท.สผ. รวมถึงโครงการ “แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ” โครงการผลิตน้ำมันดิบที่สำคัญของ ปตท.สผ. ในทวีปแอฟริกา การพัฒนาโครงการก๊าซธรรมชาติเหลวโมซัมบิก แอเรีย วัน ในโมซัมบิก และการสำรวจปิโตรเลียมแปลง SK 410B นอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ในประเทศมาเลเซีย

ธุรกิจ ปตท.

กลับมาที่ ปตท. ธุรกิจดาวน์สตรีมเอง มีความมุ่งมั่น ที่จะช่วยสนับสนุนให้ กลุ่ม ปตท. ในภาพรวม สามารถบรรลุเป้าหมายหลัก คือ “Future Energy and Beyond” โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะต้องมีรายได้ และรายได้หลังจากหักภาษีแล้ว จาก Future Energy and Beyond ที่ 30% ซึ่งธุรกิจทุกบียูก็พยายามหาธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดย ธุรกิจดาวน์สตรีม ก็ตั้งเป้าจะช่วยทำธุรกิจเสริม เข้าไปในธุรกิจหลักราว 28-30% ภายในปี 2030

อย่างไรก็ดี ธุรกิจหลัก อย่าง โรงกลั่นปิโตรเคมี ก็ทิ้งไม่ได้เหมือนกัน เพราะธุรกิจหลัก ไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจของ ปตท. เท่านั้น แต่เป็นความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศด้วย

จึงถือเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งในการดำเนินงานของบริษัท เพราะโลกที่เปลี่ยนไป จะทำให้เกิด “Energy Transition” ขึ้นมาแน่นอน ซึ่งถ้าไม่ปรับตัวมองหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ก็อาจไปไม่รอด เลยเป็นที่มาของ กลยุทธ์ ปตท. ที่จะต้องทำ 2 เรื่อง ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า

ธุรกิจ ปตท.

S 22233190 0

S 22233188 0

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo