COVID-19

โควิดจีน: ‘ปักกิ่ง’ สั่งปิดสถานีรถไฟใต้ดินกว่า 40 แห่ง หวังสกัดโควิดระบาด

โควิดจีน: “กรุงปักกิ่ง” เมืองหลวงของจีน สั่งปิดสถานีบริการรถไฟใต้ดินกว่า 40 สถานี และปิดเส้นทางเดินรถประจำทาง 158 เส้นทาง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  และหลีกเลี่ยงไม่ให้กรุงปักกิ่งต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับนครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางการเงินของประเทศ 

วันนี้ (4 พ.ค.) สำนักงานบริการด้านการขนส่งกรุงปักกิ่ง เปิดเผยว่า เทศบาลกรุงปักกิ่ง มีคำสั่งปิดสถานีรถไฟใต้ดินกว่า 40 สถานี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของเครือข่ายสถานีทั่วกรุงปักกิ่ง ทั้งยังให้ปิดเส้นทางเดินรถประจำทางอีก 158 เส้นทาง โดยสถานี และเส้นทางที่ถูกสั่งปิดเหล่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองเฉาหยาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปักกิ่ง

โควิดจีน
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

นอกจากนี้ กรุงปักกิ่งซึ่งมีประชากรราว 22 ล้านคน ยังสั่งปิดโรงเรียน รวมทั้งย่านธุรกิจบางแห่ง และอาคารที่อยู่อาศัย ที่พบว่ามีความเสี่ยงสูง ที่จะเป็นแหล่งแพร่ระบาด พร้อมกับใช้มาตรการปูพรมตรวจเชื้อโควิด-19 รอบที่ 2 ในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ตรวจหาเชื้อครั้งใหญ่ไปแล้ว 3 รอบในสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานข่าวระบุว่า ชาวปักกิ่งได้พากันตุนอาหาร และของใช้ที่จำเป็น เนื่องจากกังวลว่า หากกรุงปักกิ่งตัดสินใจล็อกดาวน์อย่างเต็มรูป ก็อาจจะส่งผลให้การหาซื้อสินค้าเป็นไปอย่างยากลำบาก

ทั้งนี้ กรุงปักกิ่งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นหลายสิบรายต่อวัน จึงทำให้ต้องเร่งตรวจหาเชื้อให้กับประชาชน โดยคาดหวังว่า หากพบการติดเชื้อก็จะสามารถกักตัวผู้ป่วยก่อนที่จะมีการลุกลามเป็นวงกว้าง

การใช้มาตรการที่เข้มงวดของกรุงปักกิ่ง ยังมีเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เหมือนกับที่นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งขณะนี้ ประชากรจำนวนมากถึง 25 ล้านคน ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลานานกว่า 1 เดือนแล้ว และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะยกเลิกมาตรการดังกล่าวในระยะใกล้นี้

ส่วนที่เมืองเจิ้งโจว ได้สั่งให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.) และวางแผนที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยเมืองเจิ้งโจวมีประชากร 12.6 ล้านคน และเป็นที่ตั้งของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอโฟน ให้กับ แอปเปิ้ล อิงค์

โควิดจีน
ภาพ: สำนักข่าวซินหัว

การประกาศล็อกดาวน์ และการใช้มาตรการที่เข้มงวดตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid Policy) ของรัฐบาลกลางจีน กำลังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อมูลของทางการจีนระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของภาคการผลิตเดือนเมษายน ร่วงลงสู่ระดับ 47.4 จากระดับ 49.5 ในเดือนมีนาคม ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการทรุดตัวลงสู่ระดับ 41.9 ในเดือนเมษายน จากระดับ 48.4 ในเดือนมีนาคม  โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของจีนเผชิญภาวะหดตัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo