COVID-19

‘โกลด์แมน แซคส์’ หั่นคาดการณ์ ‘จีดีพีสหรัฐ’ ชี้ ‘โอไมครอน’ เพิ่มความเสี่ยง

โกลด์แมน แซคส์ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ ปี 2565 เหลือโตแค่ 3.8% ชี้ความเสี่ยง และความไม่แน่นอน จากการเกิดขึ้นของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน

วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ “โกลด์แมน แซคส์” ประกาศปรับลดคาดการณ์ การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สหรัฐ  สำหรับปี 2565 ลงมาอยู่ที่ 3.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% ในปีหน้า และในไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.9% ลดลงจากระดับ 3.3% ที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้

นายโจเซปต์ บริกส์ นักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมน แซคส์  ระบุว่า การปรับลดตัวเลขคาดการณ์ครั้งนี้ เป็นผลจากความเสี่ยง และความไม่แน่นอน สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งอาจทำให้การเปิดเศรษฐกิจช้าลง

shutterstock 2084666770

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน อาจทำให้ปัญหาการจัดหาที่ตึงตัวอย่างหนัก ย่ำแย่ลงไปอีก หากประเทศอื่น ๆ ยกระดับมาตรการคุมเข้ม

รายงานวิเคราะห์ บอกด้วยว่า ภาวะขาดแคลนแรงงาน อาจยืดเยื้ออกไปอีก หากว่า ผู้คนรู้สึกไม่สบายที่จะกลับไปทำงาน เพราะการระบาดของโอไมครอน

อย่างไรก็ดี โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ผลกระทบจากไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ จะทำให้การใช้จ่ายด้านบริการ โดนฉุดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และว่า  การที่ประเทศคู่ค้ามีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น น่าจะเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้บ้าง

การหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ยังเกิดขึ้นหลังจากที่ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวบนเวทีสัมมนา รอยเตอร์ส เน็กซ์ (Reuters Next) เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (3 ธ.ค.) ว่า  ไอเอ็มเอฟมีแนวโน้มที่จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 40 แห่งแล้ว นับตั้งแต่มีรายงานการตรวจพบที่แอฟริกาใต้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และรัฐบาลหลายประเทศ และดินแดน ได้สั่งคุมเข้มการเดินทางเพื่อพยายามที่จะสกัดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว

ขณะเดียวกัน บางประเทศในยุโรป และสหรัฐ กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์โอไมครอนก็อาจจะสั่นคลอนเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์ และภาวะชะงักงันที่เกิดจากโรคโควิด-19

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo