World News

ชี้ ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ เศรษฐกิจอ่อนแอสุดในเอเชีย ‘ตลาดเกิดใหม่’ โดยรวมยังสถานะดี

นักวิเคราะห์มอง “เศรษฐกิจเอเชีย”  ระบุ ยังอยู่ในสถานะดี ได้ประโยชน์ทั้งจาก “การบริหารจัดการที่ดี” และ “โชคดี” เงินเฟ้ออ่อนค่ากว่าหลายประเทศทั่วโลก ชี้ “ไทย-ญี่ปุ่น” เศรษฐกิจอ่อนแอสุด 

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า แม้จะไม่มีตลาดใดที่ผ่านพ้นปี 2565 ไปได้ แบบไร้รอยขีดข่วน แต่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ต่างกำลังเก็บเกี่ยวผลตอบแทน จากการเตรียมความพร้อมมาร่วม 25 ปี สำหรับรับมือกับความวุ่นวาย ที่เกิดขึ้นซ้ำรอยวิกฤติการเงินเอเชีย ในช่วงปลายทศวรรษ 90

รายงานระบุว่า ปัจจุบัน แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่สกุลเงินของตลาดเกิดใหม่เอเชียส่วนใหญ่ ยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าสกุลเงินที่ถือเป็นสวรรค์ของการลงทุนดั้งเดิม อย่างเงินเยน และยูโร

เศรษฐกิจเอเชีย

ขณะที่พันธบัตร และหุ้นกู้ของภูมิภาคนี้ ก็ยังมีความโดดเด่นอย่างหาได้ยากในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ตลาดตราสารหนี้โลก ตกอยู่ในภาวะหมีครั้งแรกในชั่วอายุคน

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เอชียกำลังได้รับประโยชน์ ทั้งจากการบริหารจัดการที่ดี และโชคดี โดยอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้ อยู่ในระดับที่อ่อนกว่าหลายประเทศทั่วโลก และบรรดานักกำหนดนโยบายท้องถิ่น ไม่ได้ทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศพุ่งสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังใช้ในระดับพอประมาณเท่านั้น

เจอโรม แฮเกลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากสวิส รี กล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่เอเชีย อยู่ในกลุ่มผู้นำของการแข่งขันควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ โดยประเทศเหล่านี้ สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดเงื่อนไขที่เหมือนกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อในเวลาเดียวกัน (Stagflation) ได้

ทั้งนี้ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ที่เศรษฐกิจเอเชียชาติต่าง ๆ สะสมไว้นั้น กลายมาเป็นเกราะป้องกันผลกระทบจากความปั่นป่วนของตลาดโลก ที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลออกครั้งใหญ่สุดอย่างน้อยในรอบ 10 ปี ซึ่งแม้จะมีสัญญาณเตือนอยู่บ้าง จากการที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศถูกดึงไปใช้จนลดลง แต่ก็ยังเหลืออยู่มากกว่าระดับที่เคยมีเมื่อสิ้นปี 2562

โดยรวมแล้ว ตลาดเกิดใหม่เอเชีย ถือทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเหนือ 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

อเล็กซานเดอร์ วูลฟ์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนเอเชีย ของเจพี มอร์แกน วาณิชธนกิจรายใหญ่ของโลก ในสิงคโปร์ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว เครื่องมือที่คอยรับแรงกระแทกจากภายนอกลดลงไปอย่างมาก โดยหนี้ภาครัฐ และเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึง การใช้จ่ายเงินงประมาณมากขึ้น และการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม กำลังบั่นทอนการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด

เศรษฐกิจเอเชีย

ทั้งอัตราดอกเบี้ยแท้จริงก็อยู่ในระดับติดลบ ซึ่งหมายความถึงการมีเครื่องมือรองรับผลกระทบจากเงินทุนไหลออกน้อยลง

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นอนุภูมิภาคที่แสดงให้เห็นว่า มีความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจมหภาคอยู่บ้าง โดยที่ดัชนีผู้ผลิต (พีเอ็มไอ) ของประเทศต่าง ๆ ส่งสัญญาณถึงการขยายตัวไปทั่วทั้งภูมิภาค ตรงกันข้าม กับเกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มองเห็นถึงการหดตัว

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชียเหนือ โดยเฉพาะกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีน และญี่ปุ่น อาจเป็นจุดอ่อนของภูมิภาคนี้

ดัชนีชี้วัดของเจพี มอร์แกน ที่จะบ่งชี้ถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ซึ่งพิจารณาจาก ระดับดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ แสดงให้เห็นว่า ไทย และญี่ปุ่น อยู่ในกลุ่มที่อ่อนแอที่สุด ส่วนจีน เกาหลีใต้ และอินเดียมีความอ่อนแอ ในระดับที่รองลงมา

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์ ของโนมูระ ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่ 7 แห่ง จากทั้งหมด 30 แห่งทั่วโลก มีความเสี่ยงที่จะดิ่งแรงน้อยกว่ารายอื่น ๆ ซึ่งเศรษฐกิจในเอเชียที่อยู่ในสถานะดังกล่าว คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo