World News

จับตา ‘เมียนมา’ ขาดความเชื่อมั่น ‘ภาคการเงิน’ หลังเกิดรัฐประหาร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานสรุป เกี่ยวกับภาคการเงินในเมียนมา โดยกล่าวถึงความท้าทาย และภาวะไร้เสถียรภาพต่างๆ ที่ภาคการเงินเมียนมาต้องเผชิญ ในช่วงเวลาที่มีการคุมเข้ม เพื่อป้องกัน และสกัดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึง การทำรัฐประหาร เมื่อปี 2564 และการเคลื่อนไหวของรัฐบาล เพื่อควบคุมการถือครองเงินตราต่างประเทศ

ในรายงานที่ชื่อว่า “การปฏิรูปภาคการเงินเมียนมา” นั้น ธนาคารโลก ระบุว่า ความพยายามของเมียนมา ที่จะปฏิรูปภาคการเงิน และเข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบการเงินโลก ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2563 ตกอยู่ในภาวะตึงเครียด เนื่องจากประเทศโดน “โดดเดี่ยวทางการเงิน” อย่างต่อเนื่อง

shutterstock 1800160444

สถานการณ์ทางการเงินของเมียนมา เรียกได้ว่า อยู่ในขั้นวิกฤติ โดยรัฐบาลทหารเมียนมา พยายามที่จะคุมเข้มสกุลเงินต่างประเทศมากขึ้น และยังออกคำสั่ง เกี่ยวกับการถือครองเงินตราต่างประเทศ ที่สร้างความขัดแย้งขึ้นมา

ในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางเมียนมา ได้ปรับเปลี่ยนจุดยืนใหม่ ในเรื่องที่เคยยกเว้นบริษัทต่างชาติ ไม่ต้องโดนบังคับให้นำเงินตราต่างประเทศ มาแลกเป็นสกุลเงินท้องถิ่น หลังจากเมื่อเดือนเมษายน แบงก์ชาติเมียนมา มีคำสั่งให้สถาบันการเงินแปลงสกุลเงินต่างประเทศ ที่ลูกค้าได้รับให้เป็นเงินจ๊าดภายในหนึ่งวันทำการ ส่วนเงินฝากเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่ จะต้องแปลงให้เป็นเงินจ๊าดเป็นระยะ ๆ

ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางเมียนมา ได้ออกประกาศ ยกเว้นการบังคับแลกเงินดังกล่าว เฉพาะบริษัทที่มีธุรกิจต่างชาติถือหุ้นอยู่ไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งครอบคลุมบริษัทต่างชาติเกือบทั้งหมดที่ทำธุรกิจในเมียนมา แต่ล่าสุด ได้ประกาศยกเลิกข้อยกเว้นนี้ไปแล้ว  ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อนักลงทุนต่างชาติในเมียนมา ที่ยังไม่ได้ย้ายฐานการดำเนินงานออกนอกประเทศ

รายงานของธนาคารโลก ระบุด้วยว่า ทั้งโควิด-19 และการรัฐประหาร ได้สร้างความ “ตื่นตระหนก” ให้กับระบบการเงินของเมียนมา

“เหตุการณ์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บ่อนทำลายความก้าวหน้า ที่ได้มาอย่างยากลำบาก ในการนำภาคการเงินของเมียนมาเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างจริงจัง”

“ภาคการเงินของเมียนมา ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์  2564 ความไม่แน่นอนทางการเมือง และเศรษฐกิจที่ตามมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ระบบการเงินไร้เสถียรภาพ การลงโทษที่กำหนดโดยประชาคมระหว่างประเทศ หลังจากการรัฐประหารและการขึ้นบัญชีสีเทา FATF ของเมียนมาที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ระบบการเงินถูกโดดเดี่ยวอีกครั้ง”

shutterstock 1906030552

“แม้จะไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะอนุมานได้ว่า สถาบันการเงินหลายแห่งในเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในด้านสภาพคล่อง คุณภาพสินทรัพย์ และความสามารถในการชำระหนี้”

ธนาคารโลก เตือนด้วยว่า เรื่องที่น่ากังวลที่สุดคือ การที่สังคม สูญเสียความเชื่อมั่น ที่ภาคการเงิน ใช้เวลาตลอดทศวรรษ สร้างความน่าเชื่อถือขึ้นมา โดยการต่อคิวยาวทตามตู้เอทีเอ็ม การจำกัดการถอนเงิน การจำกัดการโอนเงินต่างประเทศ ที่เห็นได้ในปีที่ผ่านมา ล้วนสร้างความตื่นตระหนก และมีรายงานว่ากว่า 70% ของเงินฝากในประเทศที่ฝากไว้กับธนาคารถูกถอนออกไปแล้ว”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo