World News

เปิดชื่อประเทศ ‘ห้ามส่งออกอาหาร’ รับมือ ‘เงินเฟ้อ’ พุ่ง หวั่นเร่ง ‘วิกฤติอาหารโลก’ รุนแรงหนัก

รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังดำเนินการปกป้องอาหารภายในประเทศ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น เพราะจากการหยุดชะงักของการจัดหา ที่เกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามในยูเครน

การปกป้องดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลถึงความไม่พอใจของผู้คน ต่อราคาอาหารที่พุ่งสูง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงทางการเมืองสำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปัญหาการขาดแคลน เกิดขึ้นทั้งที่ประเทศของตัวเอง เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ อย่าง กรณีราคาน้ำมันปาล์ม ในอินโดนีเซีย ที่แพงขึ้นจนทำให้ประชาชนออกมาประท้วง

“ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นเรื่องน่าขัน ที่เราประสบปัญหาในการหาน้ำมันปรุงอาหาร ในฐานะประธานาธิบดี ผมปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้” ” ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ระบุ ก่อนประกาศการห้ามส่งออกน้ำมันพืช ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

วิกฤติอาหารโลก

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ ต่างออกมาเตือนว่า มีความเสี่ยงที่ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น อาจกระตุ้นมาตรการกีดกันทางการค้าทั่วโลก และอาจหนุนให้เกิดเงินเฟ้อราคาอาหารในเอเชียได้อีก ทั้งยังอาจทำให้ “วิกฤติอาหารโลก” รุนแรงขึ้น

ต่อไปนี้คือ 5 ประเทศที่ห้าม หรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยส่วนใหญ่เริ่มขึ้น หลังเกิดสงครามในยูเครน เพื่อจัดการกับราคาที่พุ่งสูงขึ้น

รัสเซียจำกัดการส่งออกข้าวสาลี-น้ำมันดอกทานตะวัน

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร สหรัฐ แสดงให้เห็นว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ในห้า ของปริมาณการส่งออกธัญพืชทั่วโลก

รัสเซีย ประกาศใช้โควตาการส่งออกและภาษีใหม่ สำหรับการส่งออกข้าวสาลีในปี 2564 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อราคาอาหารในประเทศ หลังเปิดฉากโจมตียูเครน โดยรัฐบาลเครมลินได้ประกาศข้อจำกัดการส่งออกเพิ่มเติม รวมถึงการสั่งห้ามการขนส่งข้าวสาลีไปยังประเทศอดีตสหภาพโซเวียตชั่วคราว ทั้งยังระงับการส่งออกน้ำตาลส่วนใหญ่

นอกจากนี้ ยังห้ามส่งออกเมล็ดทานตะวัน ระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม และกำหนดโควตาการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน เพื่อบรรเทาราคาในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

วิกฤติอาหารโลก

ยูเครนห้ามส่งออกสินค้าที่เป็นอาหารพื้นฐาน

ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกทั่วโลก ซึ่งภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลยูเครนสั่งห้ามส่งออกอาหารพื้นฐาน  รวมถึง ข้าวสาลี และข้าวโอ๊ต เพื่อให้แน่ใจว่า มีเพียงพอสำหรับประชาชนในประเทศ

อย่างไรก็ดี ยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่สุดของโลก ยังคงส่งออกน้ำมันประกอบอาหาร แม้ว่าการขนส่งจะหยุดชะงัก เพราะการถูกรัสเซียโจมตี

อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม

อินโดนีเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันเพื่อการบริโภครายใหญ่สุดของโลก ระบุว่า เกิดภาวขาดแคลนน้ำมันสำหรับประกอบอาหารในประเทศ ส่งผลให้รัฐบาล ตัดสินใจห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มหลายประเภท

ราคาขายปลีกน้ำมันประกอบอาหารพุ่งสูงขึ้นในอินโดนีเซีย เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มการส่งออก หลังราคาน้ำมันพืชทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น จากสงครามยูเครน จนเกิดปัญหาด้านการจัดหาขึ้นในประเทศ

ราคาขายปลีกน้ำมันพืช สำหรับทำอาหารในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นกว่า 40% จนทำให้ประชาชนพากันออกมาประท้วง และทำให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีวิโดโด ร่วงลงถึง  12%

วิกฤติอาหารโลก

คาซัคสถานจำกัดส่งออกข้าวสาลี-แป้งสาลี

คาซัคสถานได้จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลีจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน ในความพยายามที่จะสร้างสมดุล ระหว่างการส่งออก กับการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ

นับตั้งแต่ที่สงครามยูเครน เปิดฉากขึ้น ราคาข้าวสาลีในคาซัคสถาน พุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 30%  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัสเซียได้ระงับการส่งออกข้าวสาลี มายังประเทศนี้ สถานการณ์ที่ทำให้ ผู้ผลิตแป้งสาลีท้องถิ่น อาจต้องหยุดดำเนินกิจการ หากราคาข้าวสาลียังพุ่งสูง

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า คาซัคสถาน เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่รายหนึ่งของโลก คิดเป็นสัดส่วน 4% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก และ เป็นผู้จัดหาข้าวสาลีรายใหญ่ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง อย่าง อุซเบกิสถาน

วิกฤติอาหารโลก

อาร์เจนตินาจำกัดส่งออกเนื้อวัว

อาร์เจนตินา ผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของการส่งออกเนื้อวัวทั่วโลก เผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเวลาหลายปี จากการดำเนินนโยบายอย่างผิดพลาดของรัฐบาล ซึ่งความพยายามที่จะควบคุมระดับเงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นถึง  50.9% เมื่อปีที่แล้ว ทำให้อาร์เจนตินาสั่งห้ามส่งออกเนื้อสัตว์ทั้งหมด และแม้สถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น แต่รัฐบาลยังคงคำสั่งห้ามส่งออกสำหรับเนื้อวัว จนถึงปี 2566

รัฐบาลอาร์เจนตินา ยังเรียกร้องให้โรงเชือดมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ด้วยการลดราคาขายสำหรับตลาดภายในประเทศลงมา ซึ่งผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกห้ามส่งออก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo