World News

สะเทือนทั้งโลก! อินโดนีเซียระงับส่งออก ‘น้ำมันปาล์ม’ จ่อดัน ‘ราคาน้ำมันพืช’ พุ่งแรง

ผู้บริโภคทั่วโลก สะเทือนหนัก เตรียมจ่ายเงินสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น หลัง “อินโดนีเซีย” สร้างความประหลาดใจด้วยการสั่งระงับการส่งออก “น้ำมันปาล์ม” ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดแคลนน้ำมันพืชอยู่แล้ว จากปัญหาภัยแล้ง และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานอ้างบรรดานักสังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมว่า การที่ “อินโดนีเซีย” ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดของโลก ตัดสินใจที่จะระงับการส่งออก ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายนนี้ จะทำให้ราคาน้ำมันพืชชนิดหลัก ๆ รวมถึง น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันเรพซีด พุ่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบมากขึ้น ต่อกลุ่มผู้บริโภค ที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้า ในเอเชีย และแอฟริกา ที่กำลังเผชิญกับปัญหาราคาน้ำมัน และอาหารปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว

น้ำมันปาล์ม

ระงับส่งออกน้ำมันปาล์ม กระทบน้ำมันพืชทั่วโลก

นายเจมส์ ฟราย ประธานบริหาร แอลเอ็มซี อินเตอร์เนชันแนล บริษัทที่ปรึกษาด้านโภคภัณฑ์ แสดงความเห็นว่า การตัดสินใจของอินโดนีเซีย ไม่ได้ส่งผลต่อการจัดหาน้ำมันปาล์มเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อน้ำมันพืชทั่วโลกด้วย

ทั้งนี้ น้ำมันปาล์ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับการอุปโภคบริโภคเกือบทุกชนิด ไล่ตั้งแต่ ขนมเค้ก และอาหารทอดประเภทต่าง ๆ ไปจนถึง เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยมีสัดส่วนเกือบ 60% ของยอดขายน้ำมันพืชทั่วโลก และอินโดนีเซีย ถือเป็นผู้ส่งออกเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกน้ำมันพืชทั่วโลก

อินโดนีเซีย ประกาศคำสั่งห้ามส่งออกเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา โดยไม่ได้ระบุว่า จะระงับการส่งออกไปถึงเมื่อใดในความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาราคาสินค้าในประเทศที่พุ่งสูงขึ้น

นายฟราย บอกด้วยว่า การเคลื่อนไหวข้างต้นเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันพืชรายใหญ่ ๆ ของโลก กำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันถั่วเหลือง ที่เจอกับปัญหาภัยแล้งในอเมริกาใต้ น้ำมันเรพซีด จากปัญหาการปลูกคาโนลาในแคนาดา และน้ำมันดอกทานตะวัน จากการเกิดสงครามในยูเครน

ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันพืชทะยานขึ้นมาแล้วมากกว่า 50% จากปัจจัยลบในด้านต่างๆ ไล่ตั้งแต่การขาดแคลนแรงงานในมาเลเซีย ไปจนถึงภัยแล้ง ในอาร์เจนตินา และแคนาดา ผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันคาโนลา รายใหญ่สุดของโลกตามลำดับ ซึ่งทำให้การจัดน้ำมันพืชเหล่านี้ลดลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo