World News

‘โควิด-รัฐประหาร’ 2 ปัจจัยฉุด ‘เศรษฐกิจเมียนมา’ หดตัว 18% ปี 64

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์วุ่นวายทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหาร อาจทำให้เศรษฐกิจ “เมียนมา” ในปีนี้ หดตัวลงมากถึง 18% กลายเป็นภัยคุกคามต่อประชากรหลายล้านคนในประเทศ ให้ตกอยู่ในภาวะยากจน ว่างงาน และหิวโหย

เมื่อราว 10 ปีที่แล้ว “เมียนมา” ถูกมองว่าเป็นตลาดแถวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีอนาคตสดใส จากการที่กองทัพเริ่มวางมือจากการบริหารประเทศ เปิดเศรษฐกิจสู่โลกภายนอกเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ และ “อองซาน ซูจี” ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตย หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ ตามกระบวนการประชาธิปไตย

เศรษฐกิจเมียนมา

แต่บรรดานักสังเกตการณ์ ต่างเชื่อว่า เหตุรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่ซูจี กวาดชัยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายมาเป็นครั้งที่ 2 ได้ทำให้สถานการณ์พลิกกลับไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้ความคืบหน้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นหายไปในพริบตา

“เหตุรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ประกอบกับการระบาดระลอก 3 ของเชื้อไวรัสโควิดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ทำให้สถานการณ์ระบาดเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาค ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว” ธนาคารโลก ระบุไว้ในรายงาน จับตาเศรษฐกิจเมียนมา “Myanmar Economic Monitor”

ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ธนาคารโลก ประเมินว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเมียนมา จะหดตัวลงมากถึง 18% ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายนนี้

เศรษฐกิจเมียนมา

ธนาคารโลกเตือนด้วยว่า เศรษฐกิจเมียนมา จะมีขนาดลดลงเหลือไม่ถึง 1 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจประเทศ เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจน ถึงรอยรั่วที่เกิดขึ้นในทุกด้านของเศรษฐกิจ

นับตั้งที่ กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจบริหารประเทศ นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากต่างถอนตัวออกจากเมียนมา เพื่อหนีความวุ่นวายทางการเมือง ประกอบกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากประชาคมโลก และการระบาดของโควิด ที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีความรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ธนาคารโลกคาดว่า อาจมีชาวเมียนมาตกงานราว 1 ล้านคน หรือราว 4-5% ของการจ้างงานทั้งหมดเมื่อปี 2563 ทั้งยังประเมินว่า แรงงานจำนวนมากจะมีรายได้ลดลงเนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง

การรยึดอำนาจเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังส่งผลให้ธนาคาร และภาคธุรกิจต่าง ๆ ขาดแคลนเงินสด ความต้องการสินค้าลดลงต่อเนื่อง ตลอดจนการสั่งปิดอินเทอร์เน็ต เพื่อควบคุมการประท้วง ก็ส่งผลกระทบต่อการค้าขายออนไลน์เช่นกัน

เศรษฐกิจเมียนมา

เมื่อต้นเดือนนี้ “เทเลนอร์” บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากนอร์เวย์  ตัดสินใจขายกิจการในเมียนมา เพราะความกังวลด้านความปลอดภัยของพนักงาน และความไร้เสถีรภาพทั้งในทางการเมือง และสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ของรัฐบาลทหารเมียนมา

องค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) เตือนว่า เวลานี้ชาวเมียนมาหลายล้านคน กำลังเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะอดอยากหิวโหยภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ธนาคารโลกเกรงว่า สถานการณ์ที่ยากลำบากในเมียนมา ขณะนี้อาจทำให้ความพยายามสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา สูญหายไปในพริบตา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo