COVID-19

ตามรอย ‘วัคซีนโควิด’ 2 พันล้านโดส ไปอยู่ส่วนไหนของโลกบ้าง

นับตั้งแต่ที่ “โควิด-19”  เป็นเชื้อไวรัสรู้จักกันไปทั่วโลก และถูกประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกนั้น โลกก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ สามารถผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสมรณะนี้ ได้มากถึง 2 ,000 ล้านโดสภายในเวลาอันสั้นเป็นประวัติการณ์ ในความพยายามที่จะสกัดกั้นการระบาดให้ได้เร็วที่สุด 

บีบีซี รายงานว่า ข่าวดีของการมีวัคซีนจำนวนมหาศาลดังกล่าว ก็คือ น่าจะมีวัคซีนมากพอที่จะให้แก่ประชากรวัยผู้ใหญ่ 5,800 ล้านคนทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้ แต่ ข่าวร้ายก็คือ การผลิตกระจุกตัวอยู่เพียงแค่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ประกอบกับมีประเทศต่าง ๆ จำนวนหนึ่งที่กักตุนวัคซีนไว้ ทำให้แนวคิดที่ว่า ควรมีการกระจายวัคซีนให้กับทุกคนต้องสะดุด

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงวัคซีนในโลก

วัคซีนโควิด

สถานที่ผลิตเป็นเรื่องสำคัญ

ตามการคาดการณ์ หลังจากเริ่มต้นอย่างทุลักทุเล คาดว่าการผลิตวัคซีน จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้

ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยดยุค ในสหรัฐอเมริกา (Duke’s Global Health Innovation Centre–GHIC) ประเมินว่า ยอดผลิตวัคซีนโควิดโดยรวม อาจมีมากกว่า 12,000 ล้านโดสภายในปีนี้

ขณะที่ แอร์ฟินิตี (Airfinity)  บริษัทด้านการวิเคราะห์ ที่จับตามองการผลิตวัคซีน และปริมาณวัคซีน ประเมินว่า ปี 2564 โลกจะผลิตวัคซีนได้มากกว่า 11,100 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอ สำหรับการฉีดให้แก่คนจำนวน 75% ของประชากรโลก ที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้วัคซีน 10,820 ล้านโดส

แต่การระบาดใหญ่กำลังเผยให้เห็นว่า “เราไม่มีเครือข่ายการผลิต ไม่มีการกระจายวัคซีนที่เหมาะสมทั่วโลก” แอนเดรีย เทย์เลอร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ GHIC กล่าว

“สถานที่ผลิตมีความสำคัญมาก กำลังการผลิตส่วนใหญ่ กระจุกตัวอยู่ในสหรัฐ และยุโรป และเป็นที่ที่มีคนได้รับวัคซีนก่อน เพราะพวกเขาผลิตวัคซีน พวกเขาสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ อย่าง การจำกัดการส่งออก เพื่อให้มั่นใจว่าประชากรของตัวเองได้รับวัคซีนก่อนตลาดโลก”

แอร์ฟินิตี ประเมินว่า วัคซีนของ 3 บริษัท จะครองส่วนแบ่งในตลาดโลกมากที่สุดในปีนี้ โดย ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ผลิตวัคซีนได้  2,470 ล้านโดส ออกซ์ฟอร์ด/แอสตร้าเซนเนก้า 1,960  ล้านโดส และซิโนแวค 1,350 ล้านโดส

จนถึงขณะนี้ทั้งไฟเซอร์และซิโนแวค ทำได้ตามเป้าหมายเบื้องต้นของตัวเองแล้ว  แต่แอสตร้าเซนเนก้า ผู้ประกาศในตอนแรกว่า จะผลิตวัคซีน 3,000 ล้านโดสในปีนี้ กลับจ้องเจอกับอุปสรรคใหญ่ที่จะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะต้องพึ่งพาพันธมิตรในการผลิตวัคซีนขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญ ต่างจากไฟเซอร์ และซิโนแวค ที่มีการผลิตวัคซีนเองตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

เทย์เลอร์ กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้า ต้องใช้เวลานานกว่ามาก สำหรับการแกปัญหาเหล่านี้

“ฉันคิดว่า เรากำลังเห็นปัญหานี้กับวัคซีนตัวอื่น ๆ  ที่กำลังพยายามหาทางในการถ่ายโอนเทคโนโลยีและหาพันธมิตรทั่วโลก มันใช้เวลานานขึ้นในการจัดการ”

ประเทศไหนสะสมวัคซีนไว้บ้าง

กักตุนวัคซีน

แมตต์ ลินลีย์ นักวิเคราะห์อาวุโสของ แอร์ฟินิตี แสดงความเห็นว่า ปัญหาดังกล่าว เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ

“คาดว่าไฟเซอร์จะผลิตวัคซีนส่วนใหญ่ได้ แต่วัคซีนเหล่านี้จะส่งไปให้กับประเทศที่ร่ำรวยที่สั่งซื้อ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า กำลังมีการผลิตจำนวนมากในยุโรป และอินเดีย แต่วัคซีนที่ผลิตก็จะอยู่ที่นั่น” เขากล่าว

ข้อมูลของแอร์ฟินิตี แสดงให้เห็นว่า มีเพียง “จีน” เท่านั้นที่ส่งออกวัคซีนในจำนวนมาก โดยส่งออกไปต่างประเทศแล้ว 263 ล้านโดส แซงหน้า โคแวกซ์ (Covax) หรือ โครงการจัดหาวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยากจนที่นำ

“จีนกำลังมีอิทธิพลอย่างมาก” ในการกระจายวัคซีน ส่วนรัสเซีย “รับปากไว้จำนวนมากแต่ยังไม่ได้ส่งมอบ ลินลีย์ กล่าว Airfinity ระบุว่า จนถึง 17 พ.ค. วัคซีนสปุตนิก วี ของรัสเซีย มีการผลิตแล้วมากกว่า 42 ล้านโดส ในจำนวนนี้ส่งออกไป 13 ล้านโดส

วัคซีนสปุตนิก วี กำลังเผชิญข้อจำกัดแบบเดียวกันที่เกิดจากข้อตกลงในการถ่ายโอนเทคโนโลยี ตอนแรกรัสเซียทำสัญญากับที่ต่าง ๆ ทั่วโลก 18 แห่งในการผลิตวัคซีน แต่มีเพียงหนึ่งแห่งในคาซัคสถานเท่านั้น ที่กำลังผลิตวัคซีนนี้นอกประเทศรัสเซีย

เจ้าหน้าที่ทางการอินเดีย ประกาศว่า จะมีการผลิตวัคซีนสปุตนิก วี ในอินเดียตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายการผลิตที่ 850 ล้านโดส

วัคซีนโควิด

“ไม่มีแผนสำรอง”

ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากในโลกกำลังพึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ซึ่งผลิตวัคซีน 60% ของทั้งโลกในแต่ละปีในช่วงที่ไม่มีการระบาดใหญ่

แต่อินเดียเริ่มมีข้อจำกัดด้านการส่งออกวัคซีนเพื่อต่อสู้กับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในอินเดียเองที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ปริมาณวัคซีนที่เดิมจะส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำถูกตัดลดลง

“การพึ่งพาอินเดียมากเกินไปทำให้ปริมาณวัคซีนทั่วโลกมีความเปราะบาง” นางสาวเทย์เลอร์ กล่าว

“ความล้มเหลวของแผนการนี้จะส่งผลกระทบรุนแรง และไม่มีแผนการสำรองเลย ไม่มีสถาบันเซรุ่มที่อื่นในโลกนี้อีกที่สามารถผลิตได้”

ปัญหานี้ยังส่งผลกระทบต่อโครงการโคแวกซ์ ด้วยซึ่งจะต้องส่งวัคซีนให้แก่ประเทศที่ยากจน และทำให้การกระจายวัคซีนทั่วโลกมีความสมดุล

โคแวกซ์ มีเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนราว 2 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 เพื่อให้ประชากรอย่างน้อย 20% ของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้รับวัคซีน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ก่อนเป็นลำดับแรก อย่าง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

แต่จนถึงขณะนี้ ยูนิเซฟ ระบุว่า โคแวกซ์ส่งวัคซีนแล้วเพียง 72 ล้านโดสให้แก่ 125 ประเทศการแบ่งปันวัคซีน

แม้ว่าจะมีการพูดถึง “การทูตวัคซีน” และ “น้ำใจวัคซีน” แต่มีไม่กี่ประเทศที่เต็มใจหรือมีความสามารถในการส่งวัคซีนไปให้ต่างประเทศ ถ้าการส่งมอบวัคซีนเป็นไปตามกำหนดการ Airfinity ประเมินว่า ภายในสิ้นปี 2564 จะมีวัคซีนส่วนเกินคงค้างอยู่ 2.6 พันล้านโดสทั่วโลก ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าเป้าหมายการส่งมอบวัคซีนทั้งหมดของโคแวกซ์ในปี 2021

สหภาพยุโรป และอีก 5 ประเทศ (สหรัฐ, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, บราซิล และแคนาดา) จะครอบครองวัคซีนส่วนเกินเหล่านั้นมากกว่า 90% ของทั้งหมด

ลินลีย์ กล่าวว่า การแบ่งปันวัคซีนเหล่านั้นผ่านโครงการโคแวกซ์จะช่วยทำให้โครงการนี้ มีความแข็งแกร่งมากขึ้น และทำให้กลุ่มคนเปราะบางในแต่ละประเทศ ได้รับการคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะรัฐบาลประเทศที่มีรายได้สูงบางแห่งกำลังพิจารณาที่จะฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชากรของตัวเองอยู่ และเพิ่มการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่น

“หลายประเทศที่รุดหน้าในด้านการให้วัคซีนแก่ประชาชน ได้ทำข้อตกลงทวิภาคีไว้มากกว่าจำนวนประชากรของตัวเอง” แอนน์ อ็อตโทเซน ซึ่งเป็นผู้จัดการอาวุโสของศูนย์วัคซีนยูนิเซฟ กล่าวกับบีบีซี ผ่านทางอีเมล

วัคซีนโควิด

GHIC ระบุว่า จนถึง 21 พ.ค. 54% ของคำสั่งซื้อวัคซีนทั้งหมดมาจากประเทศที่มีรายได้สูง ขณะที่ประชากรของประเทศเหล่านี้คิดเป็น 19% ของประชากรโลก

“ประเทศที่มีรายได้สูงจำเป็นต้องแบ่งปันวัคซีนของพวกเขาให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำในระยะสั้นเพื่ออุดช่องว่างของปริมาณวัคซีน”

หลายประเทศยังรีรอที่จะตอบรับข้อเรียกร้องนี้

สหรัฐ ประกาศแล้วว่า จะแบ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 60 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า จะมีการส่งวัคซีนที่ได้รับการรับรองในสหรัฐ แล้วอีก 20 ล้านโดสด้วย

ส่วน ฝรั่งเศส ระบุว่า จะบริจาควัคซีน 500,000 โดส ให้แก่โคแวกซ์ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน นี้

“เราอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนา การผลิต และการส่งมอบวัคซีน ปริมาณมากที่สุดและเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ การเข้าถึงวัคซีนเป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญ” นางสาวอ็อตโทเซน ระบุ

ขณะที่ผู้นำด้านสาธารณสุขโลกกำลังหารือกันถึงวิธีการต่าง ๆ ในการกระจายการผลิตโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เพื่อให้มีการกระจายวัคซีนไปทั่วโลกได้ตามความต้องการ แต่ในระยะสั้นนี้มีทางเลือกไม่มากนัก

“ในการยุติการระบาดใหญ่ ปริมาณวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนี้จำเป็นต้องมีการกระจายที่ดีขึ้นเพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมขึ้น” นางสาวอ็อตโทเซน กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo