COVID-19

วิจัยชี้ ฉีดวัคซีนโควิดผสม 2 เข็ม ‘แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์’ ผลข้างเคียงเพิ่ม

ผลศึกษาชี้ ฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็ม โดยใช้วัคซีนแอสร้าเซนเกนก้า และไฟเซอร์ผสมกัน อย่างละ 1 เข็ม  จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงระยะสั้น ที่ไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น  

เว็บไซต์เดลี เมล ของอังกฤษ รายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่พบว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ต้องฉีดคนละ  2 เข็มนั้น หากใช้วัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 คนละยี่ห้อกัน จะพบจำนวนผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่พบอยู่ในระดับไม่ร้ายแรง เช่น มีอาการไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น

shutterstock 1789303814

ผลการศึกษาดังกล่าวสำรวจผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มคนละยี่ห้อกัน คือ แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ซึ่งแม้ว่าอังกฤษไม่ได้แนะนำให้มีการจับคู่วัคซีนในลักษณะนี้ แต่ประเทศอื่น ๆ เช่น ฝรั่งเศส แนะนำให้รับวัคซีน 2 ยี่ห้อดังกล่าวอย่างละ 1 เข็ม เนื่องจากประชาชนกังวลผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตัน

ขณะที่ในอังกฤษ แม้จะมีหลายคนได้รับวัคซีนผิดพลาดในเข็มที่ 2 แต่เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ด้านความปลอดภัย โดยชาวอังกฤษ 35.5 ล้านคนฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และในจำนวนนี้ 18.4 ล้านคนฉีดครบแล้ว 2 เข็ม

นายแมทธิว สเนป ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยยังไม่รู้ว่า ผลข้างเคียงที่สูงขึ้น หมายถึงการที่วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องรอการตรวจสอบแอนติบอดีเสียก่อน จึงจะได้ข้อสรุป โดยงานวิจัยนี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง 463 คน อายุระหว่าง 50-69 ปี ฉีดวัคซันโควิด-19 ห่างกัน 4 สัปดาห์ ระหว่างเข็มที่ 1 กับ 2

ผลการศึกษาพบว่า 37 คนจาก 110 คน ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แล้วตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ มีอาการหนาวสั่น ส่วนอีก 114 คน ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า มีอาการไข้

ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 เข็ม มี 11 คนจาก 112 คนที่มีอาการไข้ และผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั้ง 2 เข็ม มี 24 คนจาก 112 คน ที่มีอาการไข้ ทั้งนี้ รายงานผู้ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน ไม่ว่าอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ และกล้ามเนื้อ พบว่ามักมาจากผู้ที่ฉีด 2 เข็มโดยใช้วัคซีนคนละชนิดกัน

สเนป ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงของการได้รับวัคซีนผสมแบบนี้ คือ อาจได้รับการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนแบบเดิม ความเสี่ยงในการผสมวัคซีน ยังอาจนำไปสู่การขาดงานมากขึ้น เรื่องนี้ต้องพิจารณาสำหรับบุคลากรสำคัญอย่างแพทย์ และพยาบาล

shutterstock 1506051596

ทั้งนี้ ผลการวิจัยเบื้องตันได้รับการตีพิมพ์ใน The Lancet วารสารการแพทย์ฉบับเก่าแก่และมีชื่อเสียงของอังกฤษ ส่วนรายงานฉบับเต็มจะเผยแพร่ในเดือน มิถุนายน 2564 ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ เป็นระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ระบุข้อกังวลด้านความปลอดภัย

ผู้เข้ารับการทดลองครั้งนี้ เป็นหญิง 212 คน ชาย 117 คน 1 ใน 4 ต้องใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการ ผลการทดลองยังชี้ว่า ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า ก่อผลข้างเคียงอย่างปวดศีรษะ และกล้ามเนื้อเหมือนกัน แต่ก็เป็นอาการเพียงระยะสั้น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่จับคู่วัคซีนโมเดอร์นา กับโนวาแว็กซ์ โดยวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการอยู่ที่ร้อยละ 76 ส่วนโมเดอร์นาอยู่ที่ร้อยละ 92 และไฟเซอร์ร้อยละ 94 ในการทดลองทางคลินิก

ผลลัพธ์ดังกล่าวในสายตาผู้เชี่ยวชาญแล้วถือว่าดีมาก เพราะมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ระบุวัคซีนที่ผ่านเกณฑ์ด้านประสิทธิภาพ คือ ต้องมากกว่าร้อยละ 50 แต่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี มักได้ผลเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และโนวาแว็กซ์ ใช้เทคโนโลยีดัดแปลงไวรัสชนิดอื่นโดยติดตั้งหนามโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ส่งเข้าไปสอนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับไวรัสโควิด-19

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นเสมือนคำแนะนำที่กระตุ้นร่างกายให้สร้างโปรตีนขึ้นมาเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกทอดหนึ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo