Stock

การเดินเกมที่แตกต่าง ของหุ้นธนาคาร รับ ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1% ต่อปี พบว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่นี้ แต่ละธนาคารมีการขยับกลยุทธ์ธุรกิจในท่าทีที่แตกต่างกัน บทวิเคราะห์ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ได้มีมุมมองต่อหุ้นธนาคารในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น ท่ามกลางคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังเปราะบาง ดังนี้

BBL หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารแรกที่รุกขยายสินเชื่อและปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะก่อนหน้านี้ได้เริ่มเห็นสัญญาการเติบโตสินเชื่อในอัตราเร่ง โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 19% จากปีก่อน ส่งผลให้รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income : NII) จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3/65 เช่นเดียวกับ KTB หรือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่เดินกลยุทธ์ขยายสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นไปก่อนแล้ว เพื่อช่วยชดเชยสินเชื่อภาครัฐที่น่าจะปรับตัวลดลงไป

ขณะที่ KBANK หรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ SCB หรือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ยังใช้ท่าทีอนุรักษ์นิยม โดย KBANK มีการปล่อยกู้ในตลาดเงินเพิ่มขึ้น ส่วน SCB ได้เพิ่มไปในส่วนของการลงทุน ส่วน TTB หรือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) งบดุลยังคงอยู่ในช่วงหดตัวลงต่อเนื่อง

รับดอกเบี้ยขาขึ้น e1665718894890

ดังนั้น ประเมินว่าส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ในไตรมาส 3/65 ของ BBL และ KTB จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ของ KBANK SCB และ TTB แทบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ TISCO หรือ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับ KKP หรือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ขยับตัวคล้ายๆ กัน ด้วยการเร่งเพิ่มฐานเงินฝากเพื่อล็อกต้นทุนเงินฝากและรุกขยายพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งเป็นการขยับตัวก่อนที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ โดยฐานเงินฝากของ KKP เพิ่มขึ้น 17% จากต้นปี ในขณะที่ TISCO เพิ่มขึ้น 6% จากต้นปี ทั้งสองธนาคารนําฐานเงินฝากใหม่นี้ไปปล่อยสินเชื่อเพิ่ม แทนที่จะปล่อยกู้ในตลาดเงินซึ่งให้ยีลด์ตํ่า เพื่อบริหารจัดการมาร์จิน

สำหรับสิ่งที่คล้ายๆ กันของทุกธนาคาร คือ ค่าใช้จ่ายหนี้เสีย (Credit cost) จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับลดลงจากปีก่อน สะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแรง และสัดส่วน NPL coverage ที่สูงขึ้นเพราะโครงสร้างสินเชื่อค่อนไปทางสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันธนาคารต่างๆ ยังทําการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ (Write off) อย่างหนัก

จึงคาดว่า NPL เกิดใหม่จะเพิ่มในอัตราที่ชะลอลง และทําให้ธนาคารคงระดับ credit cost เอาไว้เท่าเดิม และเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง และความสามารถของธนาคาร ในการบริหารจัดการต้นทุนสุทธิจาก spread สินเชื่อในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ทําให้ยังคงให้นํ้าหนักกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” (Overweight)

คาดการณ์ตัวเลขทางการเงินที่สำคัญ@300x 100

การเดินเกมที่แตกต่างของหุ้นธนาคาร รับดอก
 Source: Company data, Boomberg, KGI Securities Research

หมายเหตุ | บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน