แบงก์รัฐ-แบงก์เอกชน ร่วมสนองนโยบาย ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบาง ลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% นาน 6 เดือน พร้อมกัน 1 พ.ค.นี้ ช่วยบรรเทาภาระและช่วยเสริมสภาพคล่อง
จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงผู้ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ได้มีโอกาสที่จะฟื้นตัว ปรับตัว ภายใต้ต้นทุนเงินที่เหมาะสม แต่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 คณะกรรมการ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี แม้ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี แต่ผลลัพธ์ก็ไม่ใช่เป้าหมายที่รัฐบาลต้องการเท่าไหร่นัก
นายกรัฐมนตรี เห็นปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่มีอัตราปรับขึ้นเรื่อยๆในช่วงที่ผ่านมา จนกลายเป็นภาระการจ่ายหนี้คืน ในส่วนของลูกหนี้ และกำลังกลายเป็นภาระใหญ่กับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเฉพาะความทุกข์ของประชาชน จำเป็นต้องหาทางช่วยลดภาระ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นายกรัฐมนตรีกังวลเกี่ยวกับปัญหาดอกเบี้ยที่ระดับสูง สร้างภาระทางการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ขณะที่ธุรกิจสถาบันการเงิน กลับมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง
ในที่สุดสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารสมาชิกฯ ตระหนักถึงภาระต้นทุนทางการเงินของประชาชนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะนี้ สมาคมฯ พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการทางการเงินต่างๆ ที่จัดทำขึ้น เพื่อบรรเทาภาระและช่วยเสริมสภาพคล่องในครัวเรือน จะช่วยให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือบรรเทาภาระของลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนได้รับผล กระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในขณะนี้นั้น
ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล โดยธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ย อ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) และอัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer) เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
โดยธนาคารออมสินได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate) สำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% ต่อปี รวมลด MRR แล้วทั้งปี 2567 เท่ากับ 0.40% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 (เป็นระยะเวลา 6 เดือน) รวมช่วยเหลือ 1.99 ล้านบัญชี เงินต้น 1.08 ล้านล้านบาท (ทั้งนี้ไม่รวมกลุ่มมาตราการรัฐ PSA ที่มี fix rate และรัฐ subsidize ดอกเบี้ยอยู่แล้ว)
ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้สนองนโยบายและมีส่วนร่วมแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กับลูกค้ารายย่อย หรือมาตรการอื่น ๆ ที่สามารถลดภาระ ช่วยสร้างโอกาสและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคการผลิตให้มากขึ้น จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลงร้อยละ 0.25 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้กับเกษตรกรลูกค้ากลุ่มเปราะบางและ SMEs ที่ประสบปัญหาในการผลิต จนทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงลูกหนี้ NPLs ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้
โดยมีลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์กว่า 1.241 ล้านบัญชี ต้นเงินรวม 369,440 ล้านบาท (กลุ่มพักหนี้เฟส 1 ราว 2 ล้านราย ได้พักดอกเบี้ยและพักเงินต้นจากมาตราการพักหนี้ไปก่อนแล้ว) ส่วนเฟสสองในอีก 1 เดือน จะครอบคลุมลูกค้าทั้งหมด รวมกลุ่มลด MRR ด้วย เรียกว่าเป็นข่าวดีสำหรับลูกค้าธ.ก.ส.ทีเดียว
ทั้งนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าในช่วงภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง โดยมีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2567
เช่นเดียวกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธพว. ก็ขานรับนโยบาย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 8.05% ต่อปี ลดลงเหลือ 7.80% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็ช่วยด้วย!!
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และลูกค้ากลุ่มเปราะบาง โดย ธอส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย และลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ให้มีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ธอส. ยังพร้อมสนับสนุนการออมภาคประชาชน ให้มีวินัยทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้จัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป และมีวงเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 200,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พิเศษ! ดอกเบี้ยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 2 ครั้ง (29 มิถุนายน และ 29 ธันวาคม) ผู้ที่สนใจสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ “เก็บออม” ได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม – 30 ธันวาคม 2567 หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงินโครงการ ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ EXIM BANK จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.40% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ SMEs สอดคล้องกับภารกิจของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ
บสย. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ลง 0.25%
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บ.ส.ย.) สนับสนุนแนวนโยบายรัฐบาล สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ 0.25% ช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง มีผลตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
“ไอแบงก์” สนองนโยบายรัฐปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อลง 0.25%
ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ร่วมสนองนโยบายรัฐบาลลดอัตรากำไรสินเชื่อรายย่อยชั้นดีเพื่อลดภาระลูกค้า ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล
โดย 6 ธนาคารของรัฐที่ได้ร่วมลงมติในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัตรากำไรในครั้งนี้ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)
ไอแบงก์ จะปรับลดอัตรากำไรสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR) จากปัจจุบัน 8.50 % ต่อปี เป็น 8.25% ต่อปี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ระยะเวลา 6 เดือน การปรับลดอัตรากำไรครั้งนี้จะทำให้ลูกค้าสินเชื่อลดภาระทางการเงิน โดยไอแบงก์ยังมีโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมศักยภาพ ตลอดจนลดภาระหนี้ภาคประชาชนอย่างยั่งยืน อาทิ โครงการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลสู่การส่งออก โครงการสินเชื่อบ้านมีหนี้ลด ซึ่งเป็นการรวมภาระหนี้ต้นทุนสูงมาอยู่ที่ไอแบงก์ที่เดียว
ความช่วยเหลือของธนาคารไม่เฉพาะแต่ธนาคารยังยังมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ก็เข้ามาร่วมลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเหมือนกันอย่าง ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ต่อปี สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME เป็นระยะเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 ตามที่สมาคมธนาคารไทย (TBA) เห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง
การปรับลด MRR 0.25 % ในครั้งนี้ จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
นายกฯขอบคุณแบงก์ ช่วยประชาชนลดภาระ
ล่าสุดนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายเศรษฐา ชื่นชมการมาตรการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งได้ดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับ สมาคมธนาคารไทย ประกาศลดดอกเบี้ย 0.25% ช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และกลุ่มเปราะบางเป็นระยะเวลานาน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567
โดย 6 ธนาคารของรัฐ ที่ร่วมลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% นับว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ สอดรับกับแนวทางการทำงานของรัฐบาล ในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกันเช่นกันเนื่องจากมีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้
“นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ขานรับแนวทาง นโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การพร้อมใจการออกมาตรการช่วยเหลือนี้ จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายชัย กล่าว
การปรับลด MRR 0.25 % ครั้งนี้ เป็นการความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ ในห้วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศตอนนี้
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของแบงค์รัฐและแบงค์เอกชน จะมีส่วนช่วยในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเอสเอ็มอี ได้อย่างดีในภารวะเศรษฐกิจอย่างนี้
- สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% รวม 6 เดือน ช่วยกลุ่มเปราะบาง ตามนโยบายรัฐบาล
- เด้งรับนโยบายรัฐบาล ธอส.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ต่อปี 6 เดือน รวม 1.8 ล้านบัญชี เริ่ม 1 พ.ค.นี้
- ‘สมาคมธนาคารไทย’ ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% ช่วยกลุ่มเปราะบาง
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg