Stock

ปรับเพดานดอกเบี้ย! กระทบ ‘หุ้นแบงก์-ไฟแนนซ์’ แค่ไหน ?

เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันใกล้ชิดอีกครั้ง เมื่อมีกระแสข่าวว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ และการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยมาตรการระยะถัดไปคือการเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่สูงเกือบ 90%

สำหรับแผนแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน 5 ประเภทของรัฐบาล มีดังนี้

ปรับเพดานดอกเบี้ย

1. ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สหกรณ์

2. ลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์

3. ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

4. ยกระดับการกำกับดูแล

5. เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนามย่อม (SMEs)

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้จะขอพูดถึงเฉพาะประเด็นสำคัญในแง่ของการลงทุน เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เกิดความกังวลต่อความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารและไฟแนนซ์ เพราะอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อกระทบต่อรายได้ของธุรกิจกลุ่มนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อลองสำรวจความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบว่าราคาหุ้นปรับลดลงกันยกกระดาน ประกอบด้วย

หุ้นกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและบัตรเครดิต

หุ้นบัตรเครดิส 2

หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์

หุ้นบัตรเครดิส 1

ปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยลง 1% กระทบกำไรแค่ไหน? 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส วิเคราะห์ Sensitivity Analysis พบว่าทุกๆ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเช่าซื้อ โดยคาดว่าจะส่งผลต่อกำไรสุทธิของหุ้น TIDLOR ลดลง 18.3%, MTC ลดลง 12.8%, AEONTS ลดลง 9.2% และ SAWAD ลดลง 7.0%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ระบุว่าดอกเบี้ยที่ลดลง 1% มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในประมาณการกำไรปี 2564 สำหรับกลุ่มไฟแนนซ์-ลีสซิ่ง ได้แก่ KTC ลดลง 10%, SAWAD ลดลง 6%, TIDLOR ลดลง 5% และ MTC ลดลง 3% 

ขณะที่กลุ่มธนาคารอย่าง BBL, KBANK, TTB, TISCO, KKP, LHFG น่าไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประมาณการกำไรปี 2564 ขณะที่ BAY มีผลกระทบต่อประมาณการกำไรลดลง 3% และ KTB ลดลง 1% 

ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มธนาคารมี Exposure ต่อสินเชื่อเหล่านี้เล็กน้อย โดยส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบในสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยใกล้เพดาน แต่สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานค่อนข้างมาก

สุดท้ายแล้วประเด็นนี้คงต้องติดตามความชัดเจนอีกครั้งครับว่าข้อกำหนดดังกล่าวจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ทาง ธปท. ได้ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลไปแล้วตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563 ทั้งดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเหลือ 25% (เดิม 28%) สินเชื่อจำนำทะเบียนปรับลดลงเหลือ 24% (เดิม 28%) และดอกเบี้ยบัตรเครดิตลงเหลือ 16% (เดิม 18%) 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน