COVID-19

‘หมอขวัญชัย’ แนะ 8 วิธีอยู่รอดจากโควิด-19 ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น

“หมอขวัญชัย” วาดแผนภูมิ วิธีอยู่รอด จากโควิด-19 ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง แนวทางการอยู่รอด (Survival guide) ในช่วงเปลี่ยนผ่านของโรคระบาดโควิด ไปสู่โรคประจำถิ่น โดยระบุว่า

โรคประจำถิ่น

นับตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในระยะที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดโควิด ไปสู่การเป็นโรคติดต่อทั่วไป หรือโรคประจำถิ่น โดยมีการปรับเปลี่ยนมาตรการในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดพอสมควร เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

ขอสรุปเป็นแผนภูมิแนวทางการอยู่รอด ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ โดยเรียงลำดับตามหมายเลขในแผนภูมิได้ ดังนี้

1. เมื่อมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโควิดแต่ยังไม่มีอาการ ยังไม่ต้องตกใจ และรีบไปตรวจหาโควิดทันที เพราะโอกาสที่จะตรวจพบเชื้อมีน้อยมาก ทำใจให้สบาย แยกตัว (สวมหน้ากากอนามัย) และสังเกตอาการที่บ้าน ถ้าไม่มีอาการภายใน 5-7 วันก็ถือว่าปลอดภัย

2. เมื่อมีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ฯลฯ ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถแยกตัว (สวมหน้ากากอนามัย) สังเกตอาการ และรักษาตามอาการที่บ้านได้ ถ้าอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ให้แยกตัวและสังเกตอาการจนครบ 7 วัน

หมอขวัญชัย

3. ถ้าอาการค่อนข้างมาก หรือสังเกตอาการไประยะหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือต้องการตรวจการติดเชื้อ ให้ทำการตรวจ ATK ด้วยตนเองที่บ้านหรือไปตรวจ ATK ที่สถานพยาบาล/ห้องปฏิบัติการ

4. ถ้าได้ผล ATK เป็นลบ ให้แยกตัว (สวมหน้ากากอนามัย) สังเกตอาการ และรักษาตามอาการที่บ้านจนครบ 7 วัน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้ตรวจ ATK และดำเนินการตามข้อ 3

5. ถ้าได้ผล ATK เป็นบวก ให้ไปที่คลินิกรักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (ARI/PUI) ที่สถานพยาบาลทุกแห่ง หรือติดต่อระบบออนไลน์ของกระทรวงสาธารณสุข (1330) หรือหมายเลขติดต่อของท้องถิ่นที่ท่านอยู่ เพื่อขอคำแนะนำในการเข้าสู่การรักษาโดยเร็ว

6. ถ้าอาการเล็กน้อยและไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ มี 7 โรคเรื้อรัง หรือหญิงมีครรภ์) จะได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และให้กักแยกตัวที่บ้าน

LINE ALBUM covid Omicron ๒๒๐๑๑๙ 0 1

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สถานพยาบาล จะโทรสอบถามอาการ 48 ชั่วโมง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจะแจ้งให้ไปรับการรักษาตามความเหมาะสม แต่ถ้าอาการดีขึ้นให้รักษาและกักแยกตัวที่บ้านต่อไปจนครบ 10 วัน

7. ถ้าอาการปานกลางหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง จะได้รับการรักษาแบบ Home isolation, Community isolation หรือ Hospitel ตามความเหมาะสม ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจส่งตัวไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ถ้าอาการดีขึ้นจะถูกจำหน่ายเมื่อครบ 5-7 วัน และให้กลับไปรักษาและกักแยกตัวที่บ้านต่อไปจนครบ 10 วัน

8. เฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มเสี่ยง จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ถ้าอาการดีขึ้นจะถูกจำหน่ายเมื่อครบ 5-7 วัน และให้กลับไปรักษาและกักแยกตัวที่บ้านต่อไปจนครบ 10 วัน

การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแบบฉับพลันทันทีเหมือนหลายๆประเทศ ดังนั้นอาจจะใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านนานกว่าประเทศอื่น ๆ บ้าง

พวกเราคงต้องอดทนและป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากการติดเชื้อ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านระยะนี้ไปได้โดยปลอดภัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo