CEO INSIGHT

‘ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์’ กางยุทธศาสตร์ 4P ปั้นโมเดลต้นแบบ ‘เดอ ตำมั่ว’ ดัน Soft Power ไทย

“ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์” วาดกลยุทธ์ “4P” ปั้นโมเดลต้นแบบ แฟลกชิป สโตร์ “เดอ ตำมั่ว” ปักหมุดเมืองพัทยา พร้อมผลักดัน Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแบบสร้างสรรค์

เดอ ตำมั่ว (De Tummour) ร้านอาหารไทยในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ เซ็น กรุ๊ป ลุยตลาดร้านอาหารไทยแบบเต็มตัว ผ่านกลยุทธ์ 4P ปั้นโมเดลต้นแบบโฉมใหม่ ที่เทอร์มินอล 21 พัทยา

เดอ ตำมั่ว

นายศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจอาหารไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แถมยังมีคู่แข่งน้องใหม่หลายรายที่กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นความท้าทายของธุรกิจที่จะต้องปรับตัวอยู่เสมอ

ในปีนี้บริษัทจึงได้มีการปรับภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ ลุยปั้นโมเดล แฟลกชิป สโตร์ โฉมใหม่ของ เดอ ตำมั่ว และยกระดับประสบการณ์รสชาติไทยแท้ ครบเครื่องเรื่องอาหารไทย รวมถึงการสร้างภาพจำใหม่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้กับแบรนด์ ด้วยการวางกลยุทธ์ 4P เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ชื่นชอบอาหารไทย

ภาพร้าน เดอ ตำมั่ว

เปิดกลยุทธ์ 4P มุ่งเบอร์หนึ่งวงการร้านอาหารไทย

Product

เดอ ตำมั่ว วางตำแหน่งตัวเองเป็นร้านอาหารไทยแท้ ๆ การออกแบบเมนูก็จะเป็นการอิงจากเมนูที่เป็นสำรับไทย มีความครบรส ครบเครื่อง ทั้งต้ม ผัด แกง ทอด และตำ รสชาติที่ตอบโจทย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ ได้นำอาหารไทยแท้มายกระดับไปอีกขั้น ด้วยการเสริมประสบการณ์ที่น่าประทับใจโดยเชฟ เช่น การนำเสนอเมนูต้มแซ่บเนื้อสันนอกวากิว (A3) โชว์การปรุงเมนูถึงโต๊ะอาหาร หรือการยกระดับเมนูกุ้งกรุงศรี (กุ้งแม่น้ำย่าง) ที่ไม่เพียงเสิร์ฟคู่น้ำจิ้มซีฟู้ดแต่เสิร์ฟมาพร้อมกับตำไทย, ผัดไทยที่เสิร์ฟพร้อมกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ เป็นต้น

ภาพอาหารร้าน เดอ ตำมั่ว

Place

ปักหมุด ตำมั่ว ในทัวร์ริสต์ มอลล์ อย่างเทอร์มินอล 21 พัทยา บนพื้นที่ที่มียอดทราฟฟิกของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการค่อนข้างมาก ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวชาวเอเชียเป็นหลัก คาดว่าทำเลที่ตั้งแห่งนี้จะสามารถดันยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเป้าหมายนี้ได้เป็นอย่างดี

ประกอบกับงานออกแบบร้าน ตำมั่ว ถูกเล่าผ่านคอนเซ็ปต์ ครัวไทยบ้าน แรงบันดาลใจจากบ้านสไตล์ไทย ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ ดูทันสมัย ถ่ายทอดภาพลักษณ์และตัวตนของแบรนด์ออกมาได้เป็นอย่างดี

สำหรับตัวร้านจะถูกแบ่งออกเป็น 2 โซน คือ โซนหน้าบ้าน เนรมิตตลาดชุมชนเล็ก ๆ วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคนในพื้นที่ และของฝากจากชุมชน เพื่อส่งต่อความตั้งใจในการผลักดัน Soft Power อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้และความแข็งแกร่งให้กับคนไทยด้วย

ร้านค้าชุมชน

อีกโซนคือ โซนในบ้าน ท่ามกลางบรรยากาศ สบาย ๆ เป็นกันเอง ความตั้งใจที่อยากให้ลูกค้าเข้ามาทานอาหารรู้สึกเหมือนได้ทานข้าวบ้านเพื่อน ตกแต่งด้วยตู้กับข้าว โต๊ะและเก้าอี้ที่คละดีไซน์สไตล์แม่เลือก โดดเด่นด้วยการใช้เทคนิคเสริมช่องกระจกรับแสงบนเพดาน สไตล์บ้านไทยที่ชอบเปิดรับแสงธรรมชาติ การเลือกใช้โทนสีไทยโทน เขม่ายาง, เขียวปีกกา, แดงตัด, ในการตกแต่งภายในร้าน รวมถึงงานดีไซน์ทั้งหมดของร้านด้วย

นอกจากนี้ ยังแฝงงานหัตถกรรมที่ถือเป็นเสน่ห์ของไทย ด้วยการคอลแลปฯ กับ PDM แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของคนไทย อีกหนึ่ง Soft Power โชว์ผลงานที่เป็นผลิตภัณฑ์ เสื่อไทย เอกลักษณ์จากหัตถกรรมจักสานของคนไทย วัสดุพิเศษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผลงานจาก PDM

Price

การกำหนดราคาขายของเมนูในร้าน ที่เหมาะสมกับคุณภาพและรสชาติของอาหารที่เสิร์ฟ

Promotion

กลยุทธ์การทำการตลาด ในช่วงแรกของการเปิดสาขา จะเน้นโปรโมชั่นการแถมเมนูพิเศษที่ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพื่อสร้างกระบวนการส่งต่อความประทับใจแบบเรียล ๆ ด้วยการใช้ User Generated Content (UGC) การันตีคุณภาพ รสชาติ และประสบการณ์ที่ได้รับจากทางร้าน บน Social Platform ยอดนิยมของแต่ละประเทศ ช่วยสร้างการรับรู้ในวงกว้างและยังกระตุ้นให้เกิดยอดขายที่มากขึ้นด้วย

ตำมั่ว ยังคงเน้นการขายแฟรนไชส์เป็นหลักเช่นเดียวกับแบรนด์ไทยในเครือ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจที่โดดเด่นรองลงมาจากธุรกิจอาหารที่เป็นธุรกิจหลักของ เซ็น กรุ๊ป

ในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2566 รายได้จากการให้สิทธิแฟรนไชส์ เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการปั้นโมเดลต้นแบบสาขานี้ จะสามารถดันยอดขายให้ธุรกิจอาหารเติบโต และภายใต้โมเดลเดียวกันนี้จะส่งผลให้สามารถต่อยอดการขายสิทธิแฟรนไชส์ให้เติบโตขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo