Economics

‘สมาคมสายการบิน’ โวยรัฐ ดองอนุมัติ ‘ปลดระวางเครื่องบิน’ ทำค่าใช้จ่ายพุ่ง-ขาดสภาพคล่อง

สมาคมสายการบินประเทศไทย โวยรัฐดองงาน ขอ “ปลดระวางเครื่องบิน” ตั้งแต่โควิดทำการบินซบ  จนกลับมาโต ก็ยังไม่อนุมัติ ทำค่าใช้จ่ายดูแลเครื่องบินพุ่ง สายการบินขาดสภาพคล่อง เหตุขายเครื่องบิน หรือ ปลดระวางแล้ว แต่จำหน่ายออกไม่ได้

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ในฐานะนายก สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งมี 7 สายการบินในประเทศร่วมกันเป็นสมาชิก เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับร้องเรียนจากสายการบินสมาชิกหลายรายว่า ประสบปัญหาในการทำธุรกิจ เนื่องจากก่อนหน้านี้ช่วงสถานกรณ์โควิด ทำให้ประกอบการเที่ยวบินไม่ได้ตามเป้า และทำการบินได้น้อยลง หลายสายการบินได้ทำแผนปลดระวางเครื่องบินที่จะประจำฝูงบินออก ทั้งการขาย และคืนเครื่องรวมกว่า 20 ลำ

ปลดระวางเครื่องบิน

แต่ติดปัญหาเมื่อทำเอกสารรายละเอียดแผนมายัง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งจากปัญหานี้ทำให้สายการบินประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทันที เนื่องจากเครื่องบินบางสายการบินได้ขายเครื่องได้แล้ว แต่ไม่สามารถส่งเครื่องบินให้กับผู้ซื้อได้ ขณะเดียวกันเครื่องบินที่จอดการจำหน่าย หรือ คืน ก็ต้องเสียค่าบำรุงรักษา ค่าจอดหลายล้านบาทต่อเดือน

นอกจากนั้น ทางภาครัฐยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการจัดทำแผนธุรกิจ เนื่องจากระยะเวลาเสนอแผนรายละเอียดมายังหน่วยงานรัฐ ทั้งกพท. คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเห็นชอบ กว่าจะมีการพิจารณาก็ไม่สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่เสนอไปแล้ว ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่คณะกรรมการกลั่นกรองแผนธุรกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ กบร. หมดวาระ จึงทำให้ไม่มีการพิจารณาอนุมัติ

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น สายการบินในสมาคมยังได้มีการรวบรวมปัญหาในประเด็นที่ทางหน่วยงานรัฐทำงานล่าช้า โดยเฉพาะ กพท. ทำงานไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การบินในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกใบอนุญาต special permit ในการนำเครื่องออกไปเข้าศูนย์ซ่อมในต่างประเทศที่ใช้ระะเวลานาน ทำให้สายการบินเกิดค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับการบริหารเครื่องบิน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ค่า landing & parking, Air Navigation charge, ค่าธรรมเนียมการต่อและออกใบอนุญาตต่าง ๆ

ทางด้านนายสุทธิพงษ์ คงพลู ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทาง กพท. รับทราบ และไม่นิ่งนอนใจเพราะเข้าใจผู้ประกอบการ โดยขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะการปลดระวางเครื่องบิน บางสายการบินก็เสนอขอปรับเครื่องบินเข้ามาประจำฝูงบิน เนื่องจากสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินกลับมาดีขึ้น

อย่างไรก็ตามการดำเนินการในรายละเอียดของการปลดระวางเครื่องบินของสายการบินนั้น มีระเบียบขั้นตอนตามกฎหมายดำเนินการอยู่ ซึ่ง กพท. ก็จะพิจารณาตามขั้นตอน ระเบียบข้อบังคับ และสาเหตุที่ล่าช้าส่วนมากเกิดจากสายการบินไม่มีการจัดทำแผนธุรกิจให้ชัดเจน

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีดังกล่าวทางกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน ยืนยันว่าไม่เคยพิจารณาล่าช้า แต่ขณะนี้เรื่องการเสนอขอปลดระวางเครื่องบิน หรือ การขาย ตนยังไม่เห็น คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีการพิจารณาในรายละเอียดอยู่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo