Business

ครม.ไฟเขียวให้ บขส. ลงสนาม ‘ขนส่งสินค้า’ ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดขนส่งที่กำลังเติบโต

ครม.ไฟเขียว ให้บชส. ขยายธุรกิจ ‘ขนส่งสินค้า’ ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดขนส่งที่กำลังเติบโต และช่วยชดเชยรายได้ จากธุรกิจเดินรถที่ลดลง

วันนี้ (7 มิ.ย. 65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2502 เรื่อง การเดินรถขนส่งต่างจังหวัด จากเดิมให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)รับภาระเดินเฉพาะรถโดยสาร เป็นให้บขส.มีภารกิจด้านการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ขนส่งสินค้า

ไฟเขียว ขยายธุรกิจ ขนส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์

เพื่อให้บขส.สามารถดำเนินกิจการขนส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถพัฒนาและขยายธุรกิจ ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และสามารถนำรายได้จากการขนส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์ มาชดเชยรายได้จากธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางที่ลดลงได้

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสภาพปัญหาในการดำเนินธุรกิจเดินรถประจำทาง ความต้องการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับองค์การรับส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์(ร.ส.พ.) ซึ่งรับภาระเดินเฉพาะรถขนส่ง สินค้าจากบ้านถึงบ้าน(Door to Door) ได้ยุบเลิกไปแล้วในปี 2549 และยังไม่มีการมอบหมายให้หน่วยงานใดของรัฐ ดำเนินภารกิจดังกล่าวแทน

ขนส่งสินค้า

ดังนั้นบขส.จึงได้เริ่มดำเนินธุรกิจรับส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์เป็นธุรกิจเสริม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2551 โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นหลัก ได้แก่ รถประจำทาง ศูนย์และสาขาในการรับส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์ บุคลากร และสถานีเดินรถ ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดในการกระจายสินค้าครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ลูกค้าที่ต้องการขนส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ทั่วไป หรือลักษณะเฉพาะ เช่น สินค้าทางการเกษตร

โดยที่ผ่านมา บขส.มีรายได้จากการให้บริการขนส่ง สินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงต้องขอทบทวนมติครม.ดังกล่าว เพื่อให้ภารกิจการดำเนินงานมีความชัดเจน และสามารถพัฒนาและขยายธุรกิจเพื่อประโยชน์ขององค์กร

ขนส่งสินค้า

กลยุทธ์ ดำเนินธุรกิจแบบ Door to Door และ Hub to Door

ทั้งนี้ บขส.ได้กำหนดกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการในการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อดำเนินธุรกิจขนส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบ Door to Door ในระยะต่อไปดังนี้ คือ  ทำความร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และผู้ประกอบการเอกชน ในการขนส่ง สินค้าและพัสดุภัณฑ์ เพื่อขยายจุดกระจายสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และขยายฐานลูกค้า

การกำหนดเส้นทางการบริการร่วมกัน และพิจารณาขยายเส้นทางในปีต่อๆไป โดยในระยะแรกจะเป็นการขนส่งภายในประเทศ  และจะมีการขยายไปสู่เส้นทางระหว่างประเทศต่อไป รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูล ในการติดตามสินค้าและพัสดุภัณฑ์

นอกจากนี้ ยังจะคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยในพื้นที่ เพื่อร่วมบริการขนส่งแบบ Hub to Door ภายใต้หลักเกณฑ์ เดียวกับการคัดเลือกรถร่วมบริการของร.ส.พ.

ขนส่งสินค้า

ธุรกิจเดินรถ ได้รับผลกระทบ ทำให้รายได้ลดลง 

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ในช่วงปี 2560-2564 บขส.มีรายได้จากการขนส่งพัสดุภัณฑ์เฉลี่ยปีละ 149.32 ล้านบาท กำไรเฉลี่ย 63.17 ล้านบาท คิดเป็น 42.31% และคิดเป็นสัดส่วน 8.36% ของรายได้ทั้งหมด และมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย คิดเป็น 5% ของตลาดธุรกิจดังกล่าว

และช่วงที่ผ่าน มา บขส.ดำเนินธุรกิจเดินรถโดยสารประจำทางเป็นธุรกิจหลัก โดยได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของบริการทดแทน เช่น สายการบินต้นทุนต่ำ การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การแข่งขันจากผู้ให้บริการภาคเอกชนรายอื่น สภาพเศรษฐกิจและสังคม และการแพร่ระบาดของโควิด 19

ส่งผลให้ปัจจุบัน บขส.มีปริมาณผู้โดยสารคงเหลือเพียงร้อยละ 10 ทำให้รายได้จากการให้บริการไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยในช่วงปี 2560-2564 บขส.มีรายได้เฉลี่ยจากการเดินรถโดยสารประจำทางปีละ 1,636 ล้านบาท แต่ยังคงมีพนักงานมากถึง 2,850 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo