Business

‘ผู้ว่าฯ กาญจนบุรี’ แจงสั่งปิดโรงแรม หวังช่วยพนักงานได้เงินทดแทน ‘ประกันสังคม’

“ผู้ว่าฯ กาญจนบุรี” แจงออกคำสั่งปิดโรงแรม-รีสอร์ท หวังช่วยพนักงานได้เงินทดแทน “ประกันสังคม” กรณีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ประคองผู้ประกอบการ

วานนี้ (17 ม.ค. 64) นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Jirakiat Bhumisawasdi ชี้แจงคำสั่งปิดโรงแรม รีสอร์ท และสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกันของทางจังหวัดกาญจนบุรีก่อนหน้านี้ว่า คำสั่งดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากกาญจนบุรีเป็นพื้นที่สีแดง ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดการท่องเที่ยวได้ตามปกติ ประกอบการคำสั่งดังกล่าวจะทำให้พนักงานในระบบได้รับเงินชดเชย กรณีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 จากกองทุน ประกันสังคม และช่วยประคองธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ในจังหวัด กาญจนบุรี อีกทางหนึ่งด้วย

ประกันสังคม กาญจนบุรี

“ผู้ว่ากาญจนบุรี” ชี้แจงคำสั่งปิดโรงแรม-รีสอร์ท

“ที่เมืองกาญจน์ ปัจจุบันโรงแรม รีสอร์ทที่อยู่ในระบบมีหลายร้อยโรงแรม แต่ละแห่งมีพนักงานนับร้อยคน บางแห่งก็หลายร้อย ขณะก่อนจังหวัดประกาศปิดส่วนใหญ่ยอดจองที่พักเป็นศูนย์ หลายแห่งประกาศปิดตัวเองไปก่อนหน้านี้ ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานย่อมไม่ได้รับค่าจ้าง สร้างความเดือดร้อน บางแห่งจ่ายเงินเดือนพนักงานแค่ 9 วัน แน่นอนย่อมเกิดความเดือดร้อนแก่ครอบครัวพนักงานนับหมื่นครอบครัว

จังหวัดได้พิจารณากรณีนี้ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อจังหวัดเรายังถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเหมือนกับหลาย ๆ จังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรงมาก การท่องเที่ยวของเราก็ต้องยอมรับว่า ยังไปไม่ได้เช่นกัน

สถานการณ์แหล่งท่องเที่ยว อุทยาน หลายแห่งประกาศปิดตัวเองไปก่อนหน้านี้ ครอบครัวของพนักงานก็ได้รับการดูแลเยียวยาตามมโนธรรมของผู้ประกอบการมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่เจ้าของกิจการ

จังหวัดได้พิจารณาเห็นว่า เพื่อความชัดเจนเป็นการตัดวงจรคนที่จะเดินทางและนำเชื้อมาแพร่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหลัก ประกอบกับเพื่อให้พนักงานที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับเงิน ประกันสังคม (กรณีภาครัฐสั่งปิด) รวมกับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจะใกล้เคียงกับเงินเดือนที่ได้รับ ย่อมดีกว่าที่จะให้โรงแรมหรือรีสอร์ทไปไม่รอดและปิดกิจการเอง และในอนาคตหากโรงแรมหรือรีสอร์ทเหล่านี้ไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างถาวร ผลเสียจะเกิดในภาพรวมมากกว่านี้เยอะครับ

สำหรับรีสอร์ทขนาดเล็กที่ทำในระบบครอบครัวหรือมีลูกจ้างจำนวนไม่มากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและมีระบบคัดกรองเฝ้าระวังโรคที่ดีอยู่แล้วและมีลูกค้าประจำ ก็อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่เราก็มีคำสั่งผ่อนผันเป็นข้อยกเว้นให้ ซึ่งทราบกันอยู่แล้วครับ

เรียนทำความเข้าใจมา ณ โอกาสนี้ครับ”

เยียวยา ประกันสังคม โควิด-19

เงื่อนไขการรับเงินเยียวยา “ประกันสังคม”

สำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการ ที่มีสิทธิ์ยื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยไวรัสโควิด-19 จากกองทุนประกันสังคม จะต้องเข้าเงื่อนไขครบทั้ง 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ

2.ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมครบ 6 เดือนใน 15 เดือน จึงจะเกิดสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน

3.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ดังต่อไปนี้

  • ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัวหรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือ
  • ไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

4.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ลูกจ้างซึ่งเข้าเกณฑ์ 4 ข้อดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวันจาก ประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว แล้วแต่กรณีแต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน

เพื่อความชัดเจนขอย้ำว่า ลูกจ้างผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิดังที่กล่าวจะต้องเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าทำงานและนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างเท่านั้น

เยียวยาโควิด-19 ประกันสังคม

ขั้นตอนยื่น “ประกันสังคม” ขอรับเงิน เยียวยาโควิด-19

ลูกจ้างในสถานประกอบการที่ต้องการขอรับเงิน เยียวยาโควิด-19 จาก ประกันสังคม สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.ลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่ กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ดาวน์โหลดที่นี่ แล้วนำส่งให้นายจ้าง พร้อมแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก **โดยขอเน้นย้ำเรื่องเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและเลขบัญชีธนาคารที่ถูกต้อง

2.นายจ้างรวบรวมแบบคำขอรับประโยชย์ทดแทน สปส.2-01/7 และจดบันทึกแจ้งข้อมูลการหยุดงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน

3.นายจ้างบันทึกข้อมูลดังต่อไปนี้ในระบบ e-Service คลิกที่นี่ บนเว็บไซต์สำนักงาน ประกันสังคม ได้แก่

  • หนังสือรับรองการหยุดงาน กรณีกักตัวหรือกรณีปิดตามคำสั่งทางราชการ
  • ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกันตนในแบบ สปส. 2-01/7 ได้แก่ เลขที่บัญชีธนาคารของผู้ประกันตน หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งได้ยื่นไว้กับนายจ้างในแบบคำขอ

**ทั้งนี้ กรณีนายจ้างเข้าใช้งานระบบ e-Service เป็นครั้งแรก จะต้องลงทะเบียนก่อน

shutterstock 1659753442

4.นายจ้างส่งแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส.2-01/7 ที่ได้บันทึกไว้บนระบบ e-Service ไปยังสำนักงาน ประกันสังคม ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลบน e-Service เสร็จสิ้น

5.ระบบทำการประมวลผลในแต่ละวัน โดยรวบรวมทุกรายการที่นายจ้างได้บันทึกข้อมูลแล้วส่งเข้าสู่ระบบ Sapiens ต่อไป ถ้าข้อมูลครบถ้วนถูกต้อง

6.ระบบ Sapiens ประมวลผลในรูปแบบรายงานภายใต้สถานประกอบการรายบุคคล

7.เจ้าหน้าที่วินิจฉัย บันทึกวินิจฉัยสั่งจ่ายบนระบบ Sapiens รายคน

8.ระบบประมวลผลสั่งจ่ายข้อมูลเข้าบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้

9.กรณีบัญชีถูกต้อง เงินจะโอนเข้าบัญชีลูกจ้างผู้ประกันตนภายใน 5 วันทำการ แต่กรณีที่เลขบัญชีธนาคารไม่ถูกต้อง นายจ้าง/ผู้ประกันตนต้องโทรหรือไลน์แจ้งบัญชี จากนั้นจะย้อนกลับไปขั้นตอนที่ 7 เจ้าหน้าที่วินิจฉัยสั่งจ่ายบน ระบบ Sapiens รายคน

“เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้น ให้นำแบบฯ และหนังสือข้อมูลดังกล่าวข้างต้นในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บน www.sso.go.th หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชี ภายใน 5 วันทำการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง ผู้ประกันตน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อ ที่สำนักงานประกันสังคม อีกทั้งลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย” นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo