World News

อัพเดตความคืบหน้า ‘วัคซีนโควิด-19’ ยุโรปกว้านซื้อใส่คลังเพิ่ม 160 ล้านโดส

อัพเดต ความคืบหน้า “วัคซีนโควิด-19” ยุโรปกว้านซื้อไม่หยุด ล่าสุดไฟเขียวจองเพิ่ม 160 ล้านโดสจาก “โมเดอร์นา” ฝั่ง “รัสเซีย” วางแผนฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ปีหน้า

วานนี้ (24 พ.ย. 63) อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) จะอนุมัติสัญญาวัคซีนฉบับใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19

สหภาพยุโรปจะซื้อ วัคซีนโควิด-19 จำนวน 160 ล้านโดสที่ผลิตโดย โมเดอร์นา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติอเมริกัน เพื่อเพิ่มพูนกลุ่มผลิตภัณฑ์วัคซีนโควิด-19 ในคลัง

วัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้นที่จะช่วยแก้ปัญหาการระบาดครั้งนี้ได้อย่างยาวนานและยั่งยืน” ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าว

ความคืบหน้า วัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ วัคซีนทุกตัวจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปเพื่อรับประกันความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดยุโรป

นอกเหนือจากโมเดอร์นา สหภาพยุโรปยังได้ทำข้อตกลงซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)  ซาโนไฟ-จีเอสเค (Sanofi-GSK) แจนเซ่น ฟาร์มาซูติกา เอ็นวี (Janssen Pharmaceutica NV)  ไบโอเอ็นเทค-ไฟเซอร์ (BioNtech-Pfizer) และเคียวแวค (CureVac)

 

รัสเซียจ่อฉีด วัคซีนโควิด-19” ครั้งใหญ่ปีหน้า

สำนักข่าวทาสส์ (Tass) อ้างคำกล่าวของทัตยานา โกลิโควา รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย รายงานว่ารัสเซียวางแผนจะฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขนานใหญ่ให้ประชาชนที่สมัครใจในปี 2564

โกลิโควาระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ ครูอาจารย์ และบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง จะได้รับสิทธิเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเป็นลำดับแรก โดยรัสเซียจัดเตรียม วัคซีนสปุตนิก ไฟว์ (Sputnik V) ที่พัฒนาในประเทศมากกว่า 117,000 โดส สำหรับพลเรือนนับตั้งแต่มีการขึ้นทะเบียน

กลุ่มผู้ผลิตวางแผนจะผลิตวัคซีนตัวดังกล่าวมากกว่า 2 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้” โกลิโควากล่าว

วัคซีนโควิด-19

ทั้งนี้ รัสเซียได้ขึ้นทะเบียนสปุตนิก ไฟว์ ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวแรกของโลก เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ก่อนที่ศูนย์วิจัยไวรัสและเทคโนโลยีชีวภาพรัสเซีย (VECTOR) ในเมืองโนโวซีบีรสก์ จะขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตัวที่ 2 ของประเทศในชื่อ เอพิวัคโคโรนา (EpiVacCorona) เมื่อเดือนตุลาคม 2563

โกลิโควาเสริมว่า ความคืบหน้า ล่าสุดศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันและผลิตภัณฑ์ด้านชีวภาพชูมาคอฟ กำลังดำเนินงานพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ตัวที่ 3 ของประเทศ โดยการทดลองทางคลินิกของวัคซีนตัวดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2563

 

“ไทย” เตรียมลงนามจองซื้อกับ “แอสตร้าเซเนก้า”

สำหรับประเทศไทย ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานพิธีลงนามในสัญญาการจัดหา วัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีนกับ บริษัท แอสตร้าเซเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน 

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีน ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่น ๆ ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท โดยจะมีการลงนามที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ประยุทธ์31102

“การลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว จะทำใหัคนไทยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนมากกว่าประเทศอื่น โดยคาดว่าจะได้รับวัคซีนกลางปี 2564 เพราะความร่วมมือดังกล่าว ยังหมายรวมถึงการผลิตวัคซีนในประเทศไทย ที่จะใช้โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นแหล่งการผลิต โดยไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างขีดความสามารถของประเทศ  ลดความสูญเสีย สร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจมหาศาล” น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข่าวดีเกี่ยวกับการวิจัยวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท แอสตร้าเซเนก้า โดยผลการวิจัย วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิผลเกินข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดมาตรฐานการรับรองวัคซีนป้องกันโควิด 19 ต้องมีประสิทธิผลไม่ต่ำกว่า 50%

โดยการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรก พบว่าประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 สูงถึง 90% ส่วนแบบที่ 2 พบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่ 62% ค่าเฉลี่ยประสิทธิผลโดยรวมของทั้ง 2 แบบ อยู่ที่ 70.4% และวัคซีนยังมีความปลอดภัยสูงด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo