World News

‘คามาลา แฮร์ริส’ สร้างประวัติศาสตร์ ‘รองประธานาธิบดีหญิง’ คนแรกสหรัฐ

“คามาลา แฮร์ริส” นักการเมืองหญิงระดับชาติของสหรัฐ วัย 56 ปี สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้กับแวดวงการเมืองอเมริกัน จากการเป็น “ผู้หญิง” คนแรก ที่จะได้นั่งในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐ

หลังจากที่ “โจ ไบเดน”  และตัวเธอเอง สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

นอกจากการเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกแล้ว แฮร์ริส ยังจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และเชื้อสายแอฟริกัน คนแรก ที่ได้นั่งตำแหน่งนี้ด้วย ถือเป็นการก้าวข้ามเส้นแบ่ง และพรมแดนที่ทำให้ก่อนหน้านี้ มีเพียงบุรุษซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายผิวขาว ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองเป็นเวลามากกว่า 2 ศตวรรษ

คามาลา แฮร์ริส

คามาลา แฮร์ริส กับเส้นทางการเมือง

แฮร์ริส เกิดที่เมืองโอ๊คแลนด์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ  บิดาเป็นชาวจาไมกา และมารดาเป็นชาวอินเดีย

ชื่อ “คามาลา” นั้น มีรากศัพท์ที่แปลว่า ดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ในวัฒนธรรมของอินเดีย ที่แสดงถึงการมีราก ที่หยั่งลึกอยู่ใต้น้ำ ในขณะที่ส่วนของดอก ชูอยู่เหนือน้ำ และเบ่งบานรับแสงอาทิตย์

มารดาของเธอ เดินทางจากอินเดีย ไปยังสหรัฐ ขณะที่มีอายุเพียง 19 ปี เพื่อทำวิจัยระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ และต่อมาได้แต่งงานกับชาวอเมริกัน เชื้อสายจาไมกา

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ได้หย่าจากกันเมื่อ แฮร์ริส มีอายุได้เพียง 5 ปี และมารดาของเธอ ก็กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ช่วยถ่ายทอดค่านิยมต่าง ๆ ที่สำคัญให้กับเธอตั้งแต่เด็กเป็นต้นมา

สำหรับตัวแฮร์ริสนั้น เธอแต่งงานกับชายเชื้อสายยิว “ดั๊ก เอมฮอฟฟ์” ซึ่งเขาจะกลายเป็น “สุภาพบุรุษหมายเลขสอง” คนแรกของอเมริกาด้วยเช่นกัน

เธอจบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยโฮวาร์ด (Howard University) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี และจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

แฮร์ริส เข้าสู่เส้นทางการเมืองระดับท้องถิ่นครั้งแรก เมื่อปี 2546 ในฐานะอัยการเขต นครซานฟรานซิสโก และอีก 7 ปีต่อมา ในปี  2553 ได้รับเลือกเป็น อัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ส่วนเส้นทางการเมืองระดับชาติของเธอ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 จากการชนะเลือกตั้ง กลายเป็น 1 ใน 2 วุฒิสมาชิกหญิง ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และถึงแม้จะอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว มาได้เพียง 4 ปี เธอก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่โดดเด่น ของพรรคเดโมแครต

เธอลงสมัครเป็นตัวแทนของพรรค เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ แต่ก็ต้องถอนตัวออกไปในช่วงต้น เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุน และเงินบริจาคมากพอ

คามาลา แฮร์ริส

เส้นทางสร้างประวัติศาสตร์ใหม่

ในการตัดสินใจเลือก  แฮร์ริส ให้ลงสมัครคู่กันในตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น ไบเดน ตัวแทนของพรรคเดโมแครต ได้ทำตามคำมั่นสัญญาว่า จะเลือกสตรี ให้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะเท่าที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีนักการเมืองหญิงคนใด ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐเลย

นอกจาก แฮร์ริส แล้ว ไบเดน ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่ง ที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้กับการเมืองสหรัฐ จากการเป็นประธานาธิบดี ที่มีอายุมากที่สุดด้วยวัย 78 ปี ซึ่งในอีกสี่ปีต่อจากนี้ หากโจ ไบเดน ที่จะมีอายุ 81 ปี ในขณะนั้น ตัดสินใจจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง นักวิเคราะห์การเมืองก็มองว่า การตัดสินใจครั้งนี้ ก็เหมือนเป็นการปูทางสำหรับผู้ที่อาจก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งต่อไป ในปี 2568

การขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ แฮร์ริส ยังถูกมองว่าเป็นการจุดประกายความหวังทางการเมือง ให้กับผู้หญิงทั่วประเทศ หลังจาก “ฮิลลารี คลินตัน” พ่ายแพ้ต่อ “โดนัลด์ ทรัมป์ ” ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

จุดแข็ง ‘กฎหมาย-ภูมิหลังหลากวัฒนธรรม’

นักวิเคราะห์การเมือง มองว่า จุดแข็งของ แฮร์ริส คือประวัติการทำงาน เพื่อช่วยปกป้องสวัสดิการด้านสุขภาพ ของประชาชน และภูมิหลังเกี่ยวกับงาน ด้านการรักษากฎหมาย รวมทั้งจุดยืน ซึ่งค่อนข้างเป็นแนวสายกลาง หรือเป็นกลางซ้าย

ถึงแม้สมาชิกกลุ่มหัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตบางคน รวมทั้งกลุ่มคนหนุ่มสาวผิวดำ จะเคยตำหนิว่า วุฒิสมาชิกหญิงคามาลา แฮร์ริส ไม่ได้สนใจประเด็นการแบ่งแยกผิว และการใช้กำลังรุนแรงของตำรวจ ในสังคมอเมริกัน มากเท่าที่ควรก็ตาม แต่แฮร์ริสก็ประกาศตัวเสมอว่า เธอนั้นเป็นอัยการแนวก้าวหน้า ผู้สนับสนุนการปฏิรูประบบการทำงาน ของผู้รักษากฎหมายในสหรัฐ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo