Business

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ พบนายกฯ ชงร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ ใช้หนัง ‘สร้างสามัคคี’

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ พบนายกฯ เสนอใช้ภาพยนตร์เป็น Soft Power สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความรัก สามัคคี หลอมรวมจิตใจของประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า จากการพบปะ ตัวแทนผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ของไทย ได้เห็นพ้องกับข้อเสนอ ของผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ หลายด้าน เพื่อร่วมฟื้นฟูประเทศ

อุตสาหกรรมภาพยนตร์

ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกอบ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย ที่เข้าพบนายกฯ อาทิ ทรานส์ฟอร์มเมชั่น ฟิล์ม, จีดีเอช ห้าห้าเก้า, สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น, เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ของไทย เน้นการพัฒนา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ให้มีความเข้มแข็ง แข่งขันในระดับนานาชาติ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมประเพณี ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

การใช้ภาพยนตร์ ร่วมฟื้นฟูประเทศ จะเป็นการใช้คอนเทนต์ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ในประเทศไทย สอดแทรกในภาพยนตร์ เพื่อเป็น Soft Power สร้างรายได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมความรัก ความสามัคคี หลอมรวมจิตใจของประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังพร้อมช่วยเหลือทุกภาคส่วน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 และหวังว่าหลัง โควิด-19 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก ในช่วงที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมภาพยนตร์ พบนายกฯ

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ กระทรวงวัฒนธรรม บูรณาการทำงานร่วมกับ ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับงบประมาณ และกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อช่วยกันสร้างชาติให้มีความมั่นคงยั่งยืน

พร้อมทั้งเสนอแนะ ให้มีการจัดหมวดหมู่ เนื้อหาของภาพยนตร์ หรือชีรี่ย์ ให้ชัดเจน น่าสนใจเหมือนต่างประเทศ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมทั้งตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง ด้วย

ด้าน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ได้ยกตัวอย่าง การสนับสนุนของรัฐบาล ในต่างประเทศ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี การส่งเสริมวัฒนธรรมผ่านภาพยนตร์ ซึ่งเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ โดยใช้ภาพยนตร์ ซีรี่ย์ ดารา ศิลปิน เป็นกลไกสำคัญ ในการสร้าง Soft Power กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

ดังนั้น ประเทศไทย สามารถใช้แนวทางดังกล่าว มาปรับใช้ โดยเฉพาะการ สอดแทรกสาระ เนื้อหา ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม ทั้งอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ความรัก ความสามัคคี รวมทั้งศักยภาพอื่น ๆ ของไทย

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย นอกจากจะสร้างรายได้จำนวนมหาศาลแล้ว ยังสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 200,000 อัตรา ช่วยเรียกความเชื่อมั่นใจต่างประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤติในปัจจุบัน

ภาพยนตร์ ยังเป็นกลไกสำคัญ ในการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี หลอมรวมจิตใจของประชาชนในชาติ ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ตามนโยบายของรัฐบาล อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ไทยอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ระยะที่ 3 (ปี 2560-2564) ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรม สร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย และผลักดันให้กรุงเทพฯ  เป็นศูนย์กลาง ด้านภาพยนตร์ ของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก รวมถึงไทย โดยเฉพาะการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย อยู่ในช่วงขาลงอยู่แล้ว โดยส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากยุคดิจิทัล ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และพฤติกรรมของผู้คน โดยเฉพาะความบันเทิง ในรูปแบบของ ออนไลน์สตรีมมิ่ง ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้มากกว่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo