COVID-19

จับตาความเปลี่ยนแปลง ‘ธุรกิจโรงภาพยนตร์’ ยุคหลังโควิด-19

แม้ โรงภาพยนตร์ ส่วนใหญ่ในจีน และเกือบทั้งหมดในสหรัฐ จะยังไม่เปิดให้บริการ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นครั้งแรก

กระนั้นก็ตาม ผู้คนในแวดวงธุรกิจนี้ ซึ่งวางแผนเปิด โรงภาพยนตร์ อีกครั้ง ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ต่างเห็นตรงกันว่ายังเร็วเกินไป ที่จะประเมินความเสียหายถาวรที่เกิดขึ้น หลังโรงภาพยนตร์ต้องปิดทำการอย่างยาวนาน จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โรงภาพยนตร์

“ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ของเราทั่วสหรัฐ กลับเข้ามาทำงานอีกครั้งเพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับลูกค้าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้” อดัม อารอน ซีอีโอ เอเอ็มซี (AMC Theaters) เครือข่ายโรงภาพยนตร์รายใหญ่สุดของสหรัฐ กล่าว พร้อมประกาศที่จะเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ที่มีอยู่ 600 แห่งทั่วสหรัฐ อีกครั้งในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้  เลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะเปิดช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

เมื่อกล่าวถึงการเลื่อนฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูด 2 เรื่อง ที่คาดว่าจะสามารถกวาดรายได้สูงสุด ได้แก่ “เทเน็ต” (Tenet) ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน และ มู่หลาน (Mulan) ไลฟ์แอกชันจากดิสนีย์ อารอน ระบุว่า เอเอ็มซี ยังคงเฝ้ารอวันที่โรงภาพยนตร์ในเครือจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็พยายามปฏิบัติตามขั้นตอนด้านความปลอดภัย

ขณะที่ โรงภาพยนตร์บางแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ำของจีน ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมนำภาพยนตร์ชื่อดัง ที่คั่งค้างออกมาฉาย รวมถึงภาพยนตร์จากฮอลลีวูด อย่าง “โซนิก เดอะ เฮ็ดจ์ฮอก” (Sonic the Hedgehog) “ดูลิตเติล” (Dolittle) และภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ อย่าง “ฟอร์ด วี เฟอร์รารี” (Ford v Ferrari) “1917” และ “โจโจ แรบบิต” (Jojo Rabbit)

ข่าวดีจากฝั่งจีน ทำให้ฮอลลีวูดรู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้าง แม้จะรู้ว่าโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของจีนยังไม่เปิดทำการ หลังเริ่มกลับมาเปิดให้บริการบางส่วนเป็นเวลาสั้นๆ ช่วงกลางเดือนมีนาคม

หันพึ่ง ไดร์ฟ-อิน แทน โรงภาพยนตร์

ไม่มีตลาดใดจะสามารถแทนที่ตลาดขนาดยักษ์ของจีนได้ แม้จะเกิดปรากฎการณ์ใหม่ในสหรัฐ  เมื่อโรงภาพยนตร์กลางแจ้งแบบ “ไดรฟ์-อิน” ที่เคยได้รับความนิยมช่วงทศวรรษ 50 และ 60 กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

วิธีการนี้ ผู้ชมสามารถดูภาพยนตร์กลางแจ้งบนจอภาพขนาดยักษ์ และนั่งอยู่ในรถยนต์ของตนอย่างปลอดภัย แต่สหรัฐไม่มีโรงภาพยนตร์กลางแจ้งเช่นนี้จำนวนมากพอที่จะทำให้ภาพยนตร์ชื่อดัง สามารถโกยรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศ สูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาทได้

มาร์ก คาร์เซน ประธานบริษัทเรลิชมิกซ์ บอกว่า การนั่งดูภาพยนตร์อยู่ในโรงแบบปิด ที่ไม่มีหน้าต่าง ทำให้บางคนรู้สึกอึดอัด โรงภาพยนตร์แบบไดรฟ์-อินจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง แต่กว่าฟ้าจะมืดก็  21.00 น. แล้ว ทำให้ไม่สามารถดันยอดขายบัตรของภาพยนตร์ใหม่ๆ ผ่านโรงภาพยนตร์กลางแจ้งได้  โรงภาพยนตร์แบบนี้ จึงเหมาะสำหรับภาพยนตร์วินเทจมากที่สุด

drive in theater 5150065 640

ทั้งนี้ เรลิชมิกซ์ เป็นบริษัทวิเคราะห์แพลตฟอร์มเชิงสังคมหลายรูปแบบของฮอลลีวูด ทั้งภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และสตรีมมิง โดยเป็นผู้ติดตามผลและยกระดับการมีส่วนร่วมของสังคมต่อภาพยนตร์หรือรายการออกใหม่

การปิดโรงภาพยนตร์แบบดั้งเดิมอย่างยาวนานส่งผลกระทบเป็นระลอก ทำให้บริษัทภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก-กลาง จำนวนมากในทั่วโลกต้องปิดตัวลง และจะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรง หากโรงภาพยนตร์ยังไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ในฤดูใบไม้ร่วง

ก่อนหน้านี้  แรนซ์ พาว ประธานของอาร์ทิซาน เกตเวย์ บริษัทที่ปรึกษาด้านภาพยนตร์ และ โรงภาพยนตร์ ชั้นนำของเอเชีย  เคยออกมาเตือนว่า เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันกำหนดการเปิดอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์อีกครั้ง จึงยังไม่สามารถกำหนดวันฉายภาพยนตร์ใหม่ได้ ภาพยนตร์ชื่อดัง ที่ประชาชนจำนวนมากตั้งตาคอยจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่า อุตสาหกรรมนี้จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างไร ซึ่งในขณะนี้ อุตสาหกรรมนี้ ได้เสียโอกาสส่วนหนึ่งไปแล้ว

ส่วน พอล เดอร์การาเบเดียน จากคอมส์คอร์ องค์กรชั้นนำด้านการวิเคราะห์ และประเมินสื่อรายงานว่า “จีนช่วยชีวิตภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง มีภาพยนตร์บางเรื่องที่ทำยอดขายไม่ดีนักในทวีปอเมริกาเหนือ แต่มีผู้เข้าชมจำนวนมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน”

ขณะที่ โดก ครึตส์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมของโคเวน วาณิชธนกิจข้ามชาติของสหรัฐ ให้สัมภาษณ์กับ เดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์ตเตอร์  คาดการณ์ว่า โรงภาพยนตร์ ส่วนมากในสหรัฐ จะปิดทำการไปจนถึงกลางปี 2564 และไม่คิดว่าจะมีบริษัทไหนปล่อยภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ออกมา ในช่วงที่มีการควบคุมการเข้าชมภาพยนตร์แบบนี้

“สตรีมมิง” มาแรง 

หากโรงภาพยนตร์ต้องปิดแบบไม่มีกำหนด จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจร้ายแรง ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งหมดตั้งแต่บริษัทเล็กๆ จนถึงกิจการรายใหญ่ คนในอุตสาหกรรมหวังว่ายักษ์ใหญ่ด้านออนไลน์ สตรีมมิง เช่น เน็ตฟลิกซ์ หรือ อ้ายฉีอี้ จะสามารถพยุงอุตสาหกรรมบันเทิงไว้ได้ ขณะที่อุตสาหกรรมต้องปรับรื้อโครงสร้างครั้งใหญ่

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฎแล้ว เห็นได้จากเดิมที ดิสนีย์วางแผนฉายภาพยนตร์ “แฮมิลตัน” (Hamilton) ของลิน-มานูเอล มิแรนดา ในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก แต่เมื่อไม่สามารถคาดเดาได้ว่า โรงภาพยนตร์จะกลับมาเปิดให้บริการเมื่อใด ดิสนีย์จึงนำมาฉายทางออนไลน์แทน ทำให้แพลตฟอร์มดิสนีย์พลัส (Disney+) หรือบริการสตรีมมิงจากดิสนีย์ ทำเงินจากค่าสมัครสมาชิกเพิ่มกว่า 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,100 ล้านบาท

disneypluslogo 100783922 large

พอร์เตอร์ บิบบ์ อดีตผู้สื่อข่าวของนิวส์วีก ผู้ตีพิมพ์นิตยสารโรลลิง สโตน และผู้สร้างภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น

“จะมีภาพยนตร์ใหญ่ๆ หลายเรื่องมากขึ้น ที่ไม่เปิดตัวตาม โรงภาพยนตร์ แบบเดิม แต่เปลี่ยนไปฉายทาง สตรีมมิง แม้แต่โรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ”

บิบบ์กล่าวชมบริษัทจีน ที่สรรหาวิธีเชิญชวน ให้ผู้ชมกลับไปใช้บริการ โรงภาพยนตร์ อีกครั้ง ได้อย่างน่าสนใจ เช่นการจัดรายการถาม-ตอบทางออนไลน์ กับบรรดานักแสดงทันทีที่ภาพยนตร์จบลง

“นั่นเป็นวิธีที่แปลกใหม่มาก ทำให้ผู้ชมอยากไปที่โรงภาพยนตร์ เพื่อมีส่วนร่วมในการถาม-ตอบกับนักแสดง”

ที่มา : สำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo