Lifestyle

‘สกาลา’ โรงภาพยนตร์ในความทรงจำ เตรียมปิดตำนาน ‘ราชาโรงหนังแห่งสยาม’

“สกาลา” เตรียมปิดตำนาน “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” ฉายรอบสุดท้าย 4 – 5 กรกฎาคม 2563 พร้อมเปิดไฟทุกดวงเพื่อให้เก็บภาพความสวยงามให้อยู่ในความทรงจำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก “Apex Scala” ได้โพสต์แจ้งข่าวสำคัญ โดยระบุว่า 3-5 JULY 2020 FINAL TOUCH OF MEMORY “LA SCALA ลาสกาลา” วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โรงภาพยนตร์จะเปิดไฟทุกดวง เพื่อให้มาเก็บภาพความสวยสง่า และบรรยากาศที่แสนมีเสน่ห์ ให้ความสว่างไสวของแสงไฟอยู่ในความทรงจำร่วมกัน สยามสแควร์เคยมีโรงหนังขนาดใหญ่สามทหารเสือ สยาม ลิโด สกาลา จนเป็นส่วนสำคัญที่ให้สยามสแควร์เติบโตเป็นทำเลทองทางธุรกิจที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และปฏิเสธไม่ได้ว่าความโอ่อ่าทำให้สกาลามีฐานะเป็น “ราชาโรงหนังแห่งสยาม”

สกาลา

ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลของกัลยาณมิตร “หอภาพยนตร์” กรุณาคัดสรรภาพยนตร์มาฉาย เพื่อปิดม่านการฉายภาพยนตร์ในวันที่ 4 และ 5 กรกฎาคม 2563″

ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวออกมาหลายครั้งว่า “โรงภาพยนตร์สกาลา” จะปิดบริการอย่างถาวร เนื่องจากหมดสัญญาเช่า กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ข่าวดังกล่าวไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการเลยสักครั้ง จนกระทั่งวันนี้ที่ โรงภาพยนตร์ได้โพสต์ปิดตำนาน “ราชาโรงหนังแห่งสยาม”

ข้อมูลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า โรงภาพยนตร์สกาลา ตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ ซึ่งเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มให้เอกชนเช่าเพื่อการพัฒนาพื้นที่ตั้งแต่ปี 2505 เป็นต้นมา

“พิสิฐ ตันสัจจา” ผู้เริ่มธุรกิจเครือเอเพ็กซ์ ได้เริ่มสร้างโรงภาพยนตร์ในบริเวณนั้น โดยมี โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งก่อสร้างต่อเนื่องกันเป็นลำดับ โดยบริษัท เซาท์ อีสเอเซีย ก่อสร้าง จำกัด รับผิดชอบการก่อสร้าง โรงภาพยนตร์สกาลานั้น สร้างเสร็จและเปิดให้บริการกับผู้ชมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 ด้วยภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง “สองสิงห์ตะลุยศึก” นำแสดงโดยจอห์น เวนย์ กับ ร็อค ฮัดสัน

สกาลา
ภาพจากเฟซบุ๊ก Apex Scala

ต่อมาย่าน “สยามสแควร์” ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งการค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับวัยรุ่น โรงภาพยนตร์ในเครือเอเพ็กซ์ก็เป็นตัวแทนของความบันเทิงในย่านนี้ ก่อนที่สื่ออย่างวิดิโอจะเข้ามาในเมืองไทย แม้ว่าต่อมาจะมีการสร้างโรงภาพยนตร์แบบต่างๆ ที่มีความทันสมัย

แต่ “โรงภาพยนตร์สกาลา” ก็ยังคงรักษากลุ่มลูกค้าผู้ชมได้ไม่น้อย นอกจากโรงภาพยนตร์ที่อยู่ชั้นบนของตัวอาคาร เครือเอเพ็กซ์ก็ริเริ่มการใช้พื้นที่ชั้นล่างให้เป็นร้านค้าและร้านอาหารขนาดเล็กที่ตอบรับผู้ชมที่รอรอบภาพยนตร์

โรงภาพยนตร์สกาลา มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมโรงภาพยนตร์ ในรูปแบบสมัยใหม่ช่วงหลัง (Late Modernist) ผสมกับ การประดับลวดลายแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ด้านหน้าอาคารยกพื้นขึ้นสูงเปิดเป็นทางเข้า โดยใช้ลักษณะของซุ้มโค้ง ภายในชั้นบนที่เป็นทางเข้า ชมภาพยนตร์ มีลักษณะเป็นโครงสร้างทรงโค้ง มีเสารองรับตามจุดต่างๆ เพดานระหว่างเสาประดับ เป็นรูปคล้ายเฟือง ขนาดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นลักษณะเฉพาะ ของโรงภาพยนตร์นี้

สกาลา
ภาพจากเฟซบุ๊ก Apex Scala

โรงภาพยนตร์สกาลา เป็น 1 ใน 3 โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ ต่อจากโรงภาพยนตร์สยาม ก่อตั้งเมื่อปี 2509 และโรงภาพยนตร์ลิโด ก่อตั้งเมื่อปี 2511 ซึ่งมี นายพิสิฐ ตันสัจจา เจ้าของโรงหนัง ศาลาเฉลิมไทย เป็นเจ้าของ มีขนาด 1,000 ที่นั่ง โดยตั้งตามชื่อ La Scala โรงละครเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งเมืองมิลาน ซึ่งในภาษาอิตาลี คำนี้แปลว่า “บันได” เคยเป็นโรงหนัง ที่หรูหราที่สุดและตั๋วแพงที่สุดในยุคหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิดที่ระบาดรุนแรง “โรงภาพยนตร์สกาลา” ได้งดให้บริการชั่วคราว หลังรัฐบาลประกาศ สั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

แต่ผลกระทบจาก “ไวรัสโควิด” ประกอบกับสัญญาเช่ากับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังจะหมดลง จึงตัดสินใจปิดกิจการ และขอยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนด เหลือเพียงแค่ให้เช่าสถานที่ สำหรับองค์กรและภาคธุรกิจ ทำกิจกรรมและจัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษ ไปจนกว่า สัญญาจะสิ้นสุดลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo