Business

ตลาดอสังหาฯ ฉะเชิงเทรา ‘บูม’ เมืองที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ รับอานิสงส์อีอีซี

ตลาดอสังหาฯ ฉะเชิงเทราบูม รับอานิสงส์ อีอีซี ดันผู้ประกอบการลงทุน ผุดที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งบ้านและทาวน์โฮม ราคา 1-3 ล้าน รองรับเรียลดีมานด์

จากนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กลายเป็นแรงดึงดูดให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งผลให้ ตลาดอสังหาฯ ฉะเชิงเทราบูม รับอานิสงส์ อีอีซี

ตลาดอสังหาฯ ฉะเชิงเทราบูม

ทั้งนี้เพราะ ฉะเชิงเทรา อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ขณะที่ราคาที่ดินก็มีการปรับตัวสูงขึ้น โดยประเมินว่า ราคาที่ดินโดยเฉพาะในจุดที่เป็นเขตเศรษฐกิจ อีอีซี จะปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ยกว่า 30-50%

ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ มองว่า ศักยภาพของจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดี รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ เนื่องจากที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่อยู่ในเขตผังเมืองพื้นที่สีเขียว จึงไม่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมมากนัก

โดยเฉพาะโซนบริเวณอำเภอบ้านโพธิ์ นับเป็นทำเลที่มีศักยภาพ ใกล้นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ รวมถึงการเกิดนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 แห่งใหม่ ทำให้มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ จากผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ เปิดขายหลายโครงการ เพื่อรองรับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งจากในนิคมอุตสาหกรรม และจากผู้ที่ต้องเดินทาง มาทำงานในพื้นที่ดังกล่าว

ฉะเชิงเทราจึงถือเป็น 1 ในจังหวัดที่น่าจับตา โดยปัจจุบัน มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เล็งเห็นโอกาส และเข้ามาลงทุนในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในเรื่องการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดที่มีที่ตั้งอยู่ติดกับเขตกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

Chachoengsao Province

นอกจากนี้ การขยายตัวของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่ง ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา มีการเติบโต แบบก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้แล้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ยังมีโครงข่ายคมนาคม ที่เชื่อมโยงการเดินทาง ได้สะดวกและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาขนส่งระบบราง อย่างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตามนโยบายรัฐ ที่ต้องการจะผลักดันฉะเชิงเทรา เป็นเมืองแห่งการพักอาศัย รองรับคนเมือง โดยใช้รถไฟความเร็วสูงในการขนคนเข้าเมือง เช่น เดียวกับเมืองใหญ่หรือมหานครใหญ่ ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีการส่งเสริมให้เกิดเมืองที่อยู่อาศัยที่อยู่ภายนอกเขตพื้นที่เมืองเศรษฐกิจ

สำหรับความคืบหน้าของรถไฟความเร็วสูงนั้น รูปแบบเป็นสถานี ความสูง 2 ชั้น รองรับทางรถไฟยกระดับจากกรุงเทพฯ ด้านหน้าเป็นลานจอดรถ อาคารสถานี ชั้นล่างจะเป็นชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร

ส่วนชั้นบนจะเป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง 4 ชานชาลา ยาว 210 เมตร ซึ่งด้วยรถไฟความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำให้การเดินทางจากฉะเชิงเทราถึงกรุงเทพฯ สะดวกและรวดเร็ว ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566

U Tapao Rayong and Pattaya

พร้อมกันนี้ ยังมีการพัฒนาการบินที่ทันสมัย ก่อสร้างสนามบินใหม่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 ปัจจุบันรองรับผู้โดยสาร 7 แสนคน/ปี หรือ 4% ของนักท่องเที่ยว 17 ล้านคน ที่เดินทางมาพัทยา และระยอง ประกอบด้วย

1. ทางวิ่ง 1 ทางวิ่ง ขนาดมาตรฐาน สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้

2. อาคารผู้โดยสาร 2 หลัง รองรับผู้โดยสารได้รวมกัน 3.7 ล้านคน/ปี แยกเป็นอาคารหลังที่ 1 รองรับได้ 7 แสนคน/ปี และอาคารหลังที่ 2 รองรับได้ประมาณ 3 ล้านคน/ปี

3. ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของ บมจ.การบินไทย ที่มีโรงซ่อมเครื่องบินขนาด 24,000 ตร.ม. ซ่อมได้ 3 ลำพร้อมกัน

ความสำคัญของสนามบินอู่ตะเภา คือ ช่วยแบ่งเบาความแออัด ของสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง โดยประมาณการว่าใน 5 ปีข้างหน้า แม้สุวรรณภูมิ เฟส 2 และ 3 จะแล้วเสร็จ รองรับผู้โดยสารจะขยายจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 90 ล้านคน/ปี ในปี 2564 แต่ยังไม่เพียงพอ แม้เมื่อรวมกับดอนเมืองที่มีการขยายเฟส 3 รองรับได้เพิ่มจาก 18 ล้านคน/ปี เป็น 40 ล้านคน/ปี ในปี 2568 รวมเป็น 130 ล้านคน/ปี ก็ยังไม่เพียงพอ

ตลาดอสังหาฯ ฉะเชิงเทราบูม

ดังนั้น จึงต้องพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 15-30-60 ล้านคน ในระยะ 5-10-15 ปีตามลำดับ และเชื่อมโยงกับสุวรรณภูมิและดอนเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูง

อีกหนึ่งจุดเด่นของจังหวัดฉะเชิงเทรา คือ การเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ นิยมเดินทางแบบเช้าไป-เย็นกลับ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางรถไฟ จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีขบวนรถไปสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา วันละ 11 ขบวน ถึงสถานีก็มีรถสองแถว พาไปยังวัดโสธรวรารามวรวิหาร เพื่อสักการะหลวงพ่อโสธร ซึ่งเป็นวัดดังของจังหวัดได้โดยตรง

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยบวก ที่ส่งผลต่อการขยายตัวของจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยแห่งอนาคต รองรับคนจากกรุงเทพฯ และแรงงานที่ย้ายมาในพื้นที่อีอีซี ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากซูมจังหวัดฉะเชิงเทราลงไปให้ลึก จะพบว่าโครงการที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์พัฒนาส่วนใหญ่ เกาะอยู่ในทำเลบ้านโพธิ์และบางปะกงเป็นหลัก ในระดับราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่เอื้อมถึง ไม่ว่าจะซื้อไว้เป็นบ้านหลังแรก เพื่อปักหลักอยู่อาศัยในพื้นที่ หรือบ้านหลังที่ 2 ในกรณีที่ต้องเดินทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo