Business

ฝรั่งฮิต ‘เปิบจิ้งหรีด’ โอกาสเกษตรกรไทย ขยายตลาดส่งออก

ฝรั่งฮิต เปิบจิ้งหรีด มกอช. รุกยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยง ดันเข้าระบบจิ้งหรีด GAP แปลงใหญ่ แนะเกษตรกรไทยเจาะตลาดส่งออกใหม่ กวาดรายได้พันล้าน

นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ฝรั่งฮิต เปิบจิ้งหรีด โดยจากข้อมูลผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลก จะมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2561-2566 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท (ข้อมูลจากบริษัท Research and Markets) ในขณะที่ตลาดส่งออกของไทยอยู่ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท

ฝรั่งฮิต เปิบจิ้งหรีด

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมการสร้างรายได้ของเกษตรกร ด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีด และยกระดับมาตรฐาน ฟาร์มจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ให้ได้มาตรฐาน สำหรับการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการนำเข้า ในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญ ในการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศ เลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเป็นอาชีพอย่างกว้างขวาง และ การกำกับดูแล ผ่านการกำหนดมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด มกษ. 8202-2560 หรือ GAP ฟาร์มจิ้งหรีด และการกำหนดจิ้งหรีดเป็นสัตว์ชนิดอื่นภายใต้ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดนโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ขึ้น โดยเป็นการดำเนินงาน ในลักษณะของการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ในการวางระบบการผลิต และการบริหารจัดการ ในพื้นที่แปลงใหญ่ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือ ในการผลิตสินค้าเกษตร โดยยึดพื้นที่และสินค้าเกษตรเป็นหลัก ทำให้เกิดการประหยัด จากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรอง ของเกษตรกร

line 167514495220792

ในส่วนของ มกอช. ได้เร่งสนองนโยบายดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่อง ผลดำเนินการล่าสุด ได้จัดโครงการอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับข้อกำหนด ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้มีความความเข้าใจ เกี่ยวกับข้อกำหนด ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด

พร้อมกันนี้ ยังให้ความรู้เรื่อง ขั้นตอนการยื่นขอการรับรอง ตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด การจัดทำคู่มือ การปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และ การจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์ม ในการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงาน ในขั้นตอนที่สำคัญ ในการจัดการฟาร์ม รวมทั้งมีความพร้อม ในการยื่นขอการตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐาน จากกรมปศุสัตว์

สำหรับจิ้งหรีด องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations; FAO) ได้ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงที่บริโภคได้ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ที่มีราคาถูก และสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น

line 167508082136418

ปัจจุบัน มีการค้าขายจิ้งหรีดในรูปแบบสด แช่แข็ง รวมถึงทำการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมทั้งทำเป็นผงบด เพื่อแปรรูปเป็นแป้ง ที่นำไปเป็นส่วนผสม ในการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งปัจจุบัน มีการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทำให้เป็นการเพิ่มรายได้ ให้แก่เกษตรกร ในช่วงหลังการทำนา หรือในช่วงฤดูแล้ง

รัฐบาลได้เล็งเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพ และมีความชำนาญ ในการเพาะเลี้ยงแมลงในเชิงพาณิชย์ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนไหม และแมงดานา และได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และน้ำน้อยในการเลี้ยง รวมทั้งไม่ต้องใช้เทคโนโลยี และต้นทุนในการเลี้ยงที่สูง  จึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ชนบท

ด้านนางสาวชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ ฟาร์มชุติกาญจน์ ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 36 ราย มีการเลี้ยงจิ้งหรีดในระบบโรงเรือนทั้งแบบปิด และแบบเปิด ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด GAP

ฝรั่งฮิต เปิบจิ้งหรีด

ขณะที่ ปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่ เป็นตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ส่วนลูกค้าในประเทศ จะเน้นการจำหน่ายทางออนไลน์ ทั้งปลีก-ส่ง สินค้าส่วนใหญ่เน้นการแปรรูป ได้แก่ ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% ซึ่งนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบ คุกกี้ และน้ำพริก โดยมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 1,600,000 บาท หรือประมาณ 19,200,000 บาทต่อปี

สมาชิกของกลุ่ม จะเน้นเลี้ยงจิ้งหรีดพันธุ์สะดิ้งเป็นหลัก ซึ่งแต่ละเดือนจะมีผลผลิตหลายสิบตัน แต่ปริมาณที่เลี้ยงได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะผงโปรตีนจากจิ้งหรีด ร้อยละ 90 ของปริมาณที่ผลิตได้จะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จำหน่ายภายในประเทศ

“จิ้งหรีดรวมถึงแมลงอื่นๆ ถือเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้นการเลี้ยงจิ้งหรีดจึงเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรไทย ในการสร้างรายได้ที่น่าสนใจ และการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเลี้ยง การตลาด
การพัฒนาเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีมาก” นางสาวชุติกาญจน์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo