CEO INSIGHT

เส้นทางสู่เจ้าแห่งทุน :โมเดลความสำเร็จซีพี (3)

หลังผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤติไข้หวัดนกในปี 2547 แล้ว จังหวะการลงทุนของซีพีไม่ได้ตื่นเต้นเหมือนช่วงทศวรรษ 2530 กระทั่งล่วงเข้าช่วงที่หก (หลังปี 2550 ) ซีพีจึงเริ่มเปิดเกมรุกลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายกิจการ และหลายประเทศ

เมื่อรวมมูลค่าการลงทุนและร่วมทุนแล้ว มีมูลค่าสูงสุดนับแต่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2502 โดยซีพีลงทุนผ่าน บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เป็นโฮลดิ้งคอมปานี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ฮ่องกง (ถือหุ้นกิจการในจีนเป็นหลัก) รวมทั้งบริษัทเรือธงอย่าง ซีพีเอฟ หรือ ซีพีออลล์ โดยธุรกิจที่ซีพีเข้าไปเทคโอเวอร์ หรือร่วมลงทุนมีตั้งแต่ ฟาร์ม ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประเทศ การเงิน ค้าปลีก รวมทั้งสัมปทานรถไฟความเร็วสูง

การร่วมทุนกับ บริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิล อินดัสเทรียล คอร์เปอเรชั่น (เอสเอไอซี) ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมจากจีน ตั้งบริษัท ซีพีมอเตอร์โฮลดิ้ง ผลิตรถยนต์ เอ็มจีในปี 2555 คือข่าวการลงทุนระลอกใหม่ของซีพีหลังเงียบไปนาน ก่อนที่จะมีข่าวการลงทุนตามมาอย่างต่อเนื่อง

ในปีถัดมา (2556) ชื่อ เจ้าสัวธนินท์ เป็นข่าวใหญ่ระดับภูมิภาค เมื่อมีรายงานข่าวว่าซีพี เข้าไปซื้อหุ้น 15.57% ในบริษัท ผิงอันอินชัวรส์ ยักษ์ประกันอันดับสองของจีน จากธนาคารเอสเอชบีซี (ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงก์) 15.57% มูลค่า 9,400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 287,942 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น)  ปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าสัวธนินท์ ยังตัดสินใจซื้อหุ้น บมจ.สยามแม็คโคร จำนวน 64% คืนจาก บริษัท เอสเอชวี โฮลดิ้ง (เนเธอร์แลนด์) ที่ขายออกไปในช่วงวิกฤติ 2540 มูลค่า 121,536 ล้านบาทอีกด้วย

แนวรุกใหม่ของ เจ้าสัวธนินท์ และซีพี ยังไม่หยุดแค่นั้น หลัง ซีพีเอฟ ประกาศมุ่งลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปี 2557 เรือธงหลัก ของซีพีไล่ซื้อกิจการ ฟาร์ม บริษัทผลิตอาหารพร้อมรับประเทศในหลายประเทศ เพื่อสนองยุทธศาสตร์ดังกล่าว อาทิซื้อฟาร์มไก่ครบวงจร Woyskovitsy และ Severnaya ในรัสเซีย ซื้อฟาร์มหมูครบวงจร ในแดนาคา ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประเทศใน เบลเยียมและ สหรัฐ เป็นต้น (ดูตาราง)

การลงทุนของซีพี 01

หากดีลใหญ่สุดระดับดีลแห่งปี คือ ซีพี จับมือกับ อิโตชู คอปอร์เรชั่น บรรษัทการค้ายักษ์ใหญ่ระดับโลกจากญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนการลงทุน โดย อิโตชู เข้าถือหุ้นใน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ฮ่องกง 25% มูลค่า 27,200 ล้านบาท และเครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปถือหุ้นใน อิโตชู 4.9% มูลค่า 32,000 ล้านบาท

จากนั้นทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมทุนตั้ง บริษัท เจียไต๋ ไบร์ท (ซีที ไบร์ท) ถือหุ้นฝ่ายละ 50% แล้วนำ ซีทีไบร์ท เข้าไปลงทุนใน บริษัท ซิติก ลิมิเต็ด (ยักษ์ธุรกิจจากจีนลงทุนครอบจักรวาลตั้งแต่การเงิน พลังงาน อุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง : ดัชนีฮั่งเส็ง) 20% (ถือหุ้นเป็นอันดับสอง) มูลค่าการลงทุนถึง 80,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 343,000 ล้านบาท

การลงทุนของซีพี2 01

เจ้าสัวธนินท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ขณะนั้น) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ความร่วมมือระหว่าง ซี.พี. อิโตชู และ ซิติก ถือเป็นปรากฏ การณ์ครั้งสำคัญของธุรกิจเอเชีย เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เติบโตสู่การเป็นผู้นำของเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นการผนึกกำลังโดยอาศัยจุดแข็ง เครือข่าย และทรัพยากรร่วมกันของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ต่างเป็นผู้นำในตลาดโลก”

หากพิจารณาจากจังหวะการรุกของซีพี นับแต่ปี 2552 เป็นต้นมา การลงทุนของซีพีในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น มีอัตราเร่งและมูลค่าการลงทุนมากกว่ายุคไหน และไม่ใช่การรุกไล่ซื้อกิจการในต่างประเทศเท่านั้น แม้แต่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ซีพีไม่ได้ให้น้ำหนักมากนักก็ถูกเร่งตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

กรณี บริษัท แมโนเลีย ดิเวลล๊อปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ เอ็มคิวดีซี ที่ซีพีก่อตั้งในปี 2537 ที่ผ่านมาลงทุนในเสกลเล็กพัฒนาแลนด์แบงก์ในมือตระกูลเจียรวนนท์ ย่านบางนา แต่ในช่วงทศวรรษแห่งการรุก เจ้าสัวธนินท์ ผลักดัน แมกโนเลีย ให้ลงทุนอย่างก้าวกระโดด การร่วมลงทุนกับ บริษัท สยามพิวรรธน์ พัฒนาโครงการไอคอนสยามริมฝั่งเจ้าพระยา มูลค่า 50,000 ล้านบาท ไม่ต่างจากการประกาศบุกธุรกิจอสังหาฯอย่างจริงจังของซีพี โดย เจ้าสัวธนินท์ วางตัว ทิพาภรณ์ อริยาวรารมย์ ลูกสาวคนเล็ก เป็น ประธานกรรมการบริหาร แมกโนเลีย

การลงทุนของซีพี3 01

การลงทุนของซีพีสร้างความฮือฮาอีกครั้งเมื่อ ตั้งบริษัท ร่วมค้าโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง หรือซีพีเอช มีพันธมิตรเป็นบริษัทก่อสร้างระดับต้นๆ ของประเทศและจีน เช่น บมจ. ช.การช่าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บริษัท ไชน่า เรลเวยส์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น ฯลฯ เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็งสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา -สุวรรณภูมิ- ดอนเมือง) ระยะทาง 250 กิโลเมตร มูลค่า 224,000 ล้านบาท โดยประมาณก่อนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะประมูล  คาดว่าคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา 28 พฤษภาคมนี้

การตัดสินในเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงของ เจ้าสัวธนินท์ ถูกประเมินจากภายนอกว่า “เสี่ยง” เพราะมีการลงทุนสูงและระยะเวลากว่าจะคืนทุนยาวนาน โครงการนี้ถือเป็นการต้อนรับ ศุภชัย เจียรวนนท์ ที่ขึ้นเป็นประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ แทน เจ้าสัวธนินท์ ตั้งแต่ต้นปี 2560 ตัว ศุภชัย ยอมรับเองระหว่างประชุมคณะผู้บริหารซีพีกว่า 400 คนจากทั่วโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่าโครงการนี้เสี่ยง

“เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงและได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง” แต่ประธานฯใหม่ซีพีให้เหตุผลที่ซีพี ตัดสินใจลงทุนว่า เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

และย้ำต่อผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมด้วยว่าแม้จะยาก และมีความเสี่ยงสูงแต่ เครือซีพีต้องใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ และดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาทำให้สำเร็จ

ธนินท์ เจียรวนนท์

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นการลงทุนข้ามสายที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก (อาหารสัตว์ เลี้ยงไก่ อาหาร) ครั้งที่ 2 ของซีพี ครั้งแรกคือการประมูลสัมปทานโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ในปี 2533 การลงทุนข้ามสายเป็นลักษณะเฉพาะของซีพี สะท้อนความเชื่อของ เจ้าสัวธนินท์ ที่กลายมาเป็นวิสัยทัศน์ของซีพีในวันนี้ที่ว่า “ตลาดทั่วโลก วัตถุดิบทั่วโลก คนเก่งทั่วโลก การเงินทั่วโลกล้วนเป็นของเครือเจริญโภคภัณฑ์”

การขับเคลื่อนธุรกิจ ด้วยแนวคิดดังกล่าว ปูทางให้อาณาจักรซีพี ขยายตัวออกไปทั้งแนวดิ่งและราบ และนำเจ้าสัวธนินท์ ก้าวขึ้นสู่เจ้าแห่งทุน

Avatar photo