COVID-19

ซีเอ็นเอ็นชี้ ‘ไทย’ 1 ใน 5 ชาติ ที่ต้องจับตา กับนโยบายใหม่ ‘อยู่ร่วมกับโควิด’

ซีเอ็นเอ็น ระบุ ไทย เป็น 1 ใน 5 ประเทศ ที่กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด จากการที่ตัดสินใจเปิดประเทศ และหันมาใช้นโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด”

บทความของ ซีเอ็นเอ็น ระบุว่า เป็นเวลานานกว่า 18 เดือนแล้ว ที่เกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 และมีประเทศจำนวนหนึ่ง ที่ตัดสินใจว่า ถึงเวลาที่จะเปิดประเทศแล้ว และนำโมเดล “อยู่ร่วมกับโควิด” เข้ามาใช้

บางประเทศในกลุ่มนี้ มีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในระดับสูง ส่วนบางประเทศก็มุ่งเน้นไปในประเด็น ความเสียหายที่เกิดจากมาตรการควบคุมสังคม และเศรษฐกิจ

พร้อมกันนี้ ซีเอ็นเอ็นได้ยกตัวอย่าง 5 ประเทศ ที่กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายใหม่ที่ประเทศเหล่านี้เลือกใช้นั้น จะมีผลออกมาอย่างไร

shutterstock 1724738008

เดนมาร์ก : ประเทศที่ยกเลิกมาตรการป้องกันทั้งหมด

รัฐบาลเดนมาร์ก ยกเลิกมาตรการควบคุม และป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีอยู่ทั้งหมด โดยระบุว่า “โควิด” ไม่ได้เป็นอาการเจ็บป่วย ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมอีกต่อไป

ปัจจุบัน ชาวเดนมาร์ก สามารถเข้าไปเที่ยวในไนท์คลับ หรือเข้าไปใช้บริการร้านอาหารได้ โดยไม่ได้ต้องแสดง “พาสปอร์ตโควิด” อีกต่อไป จะใช้บริการขนส่งสาธารณะ ก็ไม่ได้จำเป็นต้องสวมหน้ากาก และสามารถปะกันเป็นกลุ่มใหญ่ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ

กุญแจแห่งความสำเร็จของเดนมาร์ก ส่วนหนึ่งมาจากโครงการฉีดวัคซีนของประเทศ โดยนับถึงวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มากกว่า 74% ของประชากรเดนมาร์กทั้งหมด ฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแล้ว

shutterstock 739779886

สิงคโปร์ : พยายามอยู่ร่วมโควิด แต่มี ‘เดลตา’ เป็นอุปสรรค

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนว่า มีแผนที่จะเดินหน้าในนโยบายอยู่ร่วมกับโควิด ความพยายามที่จะควบคุมการระบาดด้วยวัคซีน และติดตามการรักษาในโรงพยาบาล มากกว่าที่จะไปควบคุมการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา สิงคโปร์ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดบางส่วน โดยอนุญาตให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว สามารถนั่งทานอาหารในร้าน  และรวมกลุ่มกันได้สูงสุด 5 คน

ทางการสิงคโปร์บอกด้วยว่า จะใช้ความพยายามจำกัดการระบาด ด้วยการตามหาผู้ที่เคยสัมผัสผู้ติดเชื้อ คลัสเตอร์ และบังคับตรวจหาเชื้อเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูง

shutterstock 1041475570

ไทย : ฉีดวัคซีนช้า แต่ยังไงก็จะเปิดประเทศ

มีแผนที่จะเปิดกรุงเทพมหานคร และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมต่าง ๆ อย่าง หัวหิน พัทยา และเชียงใหม่ ให้ชาวต่างชาติ ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว เดินทางเข้ามาได้ในเดือนหน้า ท่ามกลางการดำเนินความพยายามที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่มีความสำคัญต่อประเทศ แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

อัตราการฉีดวัคซีนของไทย ยังคงอยู่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านบางชาติ โดยนับถึงวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มีประชากรไทยไม่ถึง 18% ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มแล้ว

แอฟริกาใต้ : ผ่อนคลายมาตรการ แต่เดลตา ยังเป็นภัยคุกคาม

แอฟริกาใต้ เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว หลังอัตราการติดเชื้อในประเทศเริ่มลดลง

การผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว รวมถึง การเปลี่ยนแปลงเวลาเคอร์ฟิวทั่วประเทศ เป็น 23.00 น.-04.00 น. ของวันถัดไป เปิดทางให้รวมกลุ่มในที่ร่วมได้มากสุด 250 คน และ 500 คน หากเป็นที่กลางแจ้ง และลดการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ประธานาธิบดี นายซีริล รามาโฟซา ผู้นำแอฟริกาใต้ เตือนว่า การระบาดระลอก 3 ยังไม่จบสิ้น แต่ก็บอกว่า ขณะนี้ มีวัคซีนมากพอสำหรับประชากรวัยผู้ใหญ่ของทั้งประเทศ และมากกว่า 1 ใน 4 ฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และยังขอให้ทุกคนยังต้องทำตามมาตรการที่ยังคงอยู่และไปฉีดวัคซีน

shutterstock 1705191397

ชิลี : อัตราฉีดวัคซีนสูง นักท่องเที่ยวเข้ามาได้

ชิลีได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ ถึงการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนได้อย่างราบรื่น และประสบความสำเร็จ โดยข้อมูลล่าสุด จากกระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นว่า มีชาวชิลีเกือบ 87% ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว ทั้งล่าสุดเพิ่งอนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนแวค ให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

แม้จะยังมีภัยคุกคามจากไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตาอยู่ แต่รัฐบาลชิลี ก็ประกาศเดินหน้าเปิดประเทศอีกครั้ง โดยจะเริ่มรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งตรงกับช่วงฤดูร้อนของประเทศพอดี

ชาวต่างชาติ ที่ไม่ใช่ผู้มีถิ่นพำนักในชิลี สามารถเดินทางเข้าประเทศ หากตรงตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งเมื่อเดินทางเข้ามาแล้ว ต้องกักตัว 5 วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo