COVID-19

วิจัยชี้ ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ เกี่ยวข้อง เจอปัญหา ‘หัวใจ-หลอดเลือด’ น้อยลง

งานวิจัยฉบับใหม่ ระบุ การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการทำให้กลุ่มผู้ติดเชื้อ เกิดอาการหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองตีบ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือดอื่น ๆ น้อยลง

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาลัยโรคหัวใจอเมริกัน (Journal of the American College of Cardiology) เป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่ศึกษาการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด ทั้งแบบครบโดส และแบบไม่ครบโดส ที่มีต่อความเชื่อมโยงกับภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจที่รุนแรง (MACE) ในสหรัฐ

ฉีดวัคซีนโควิด-19

คณะนักวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไอคาห์น แห่งซีนาย ใช้ฐานข้อมูลความร่วมมือโควิดแห่งชาติของสหรัฐ ศึกษาผู้ป่วย 1,934,294 ราย ซึ่ง 217,843 รายในจำนวนนี้ ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค หรือโมเดอร์นา หรือวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดไวรัลเวกเตอร์ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน

กีริช เอน นาดการ์นี ผู้เขียนอาวุโส และศาสตราจารย์การแพทย์ จากวิทยาลัยไอคาห์น กล่าวว่าวิทยาลัยฯ พยายามแจกแจงผลกระทบจากการฉีดวัคซีนก่อนหน้านี้ต่ออาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ และหลอดเลือดในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด และพบว่าผู้ที่มีโรคร่วม อย่างภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจที่รุนแรง เบาหวานชนิดที่ 2 คอเลสเตอรอลสูง โรคตับ และโรคอ้วน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่ต่ำกว่า

ทั้งนี้ นาดการ์นี ระบุว่า แม้จะไม่สามารถระบุสิ่งที่เป็นสาเหตุได้ แต่งานวิจัยนี้ก็เป็นหลักฐานสนับสนุนว่า การฉีดวัคซีนอาจมีผลดีต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หลังป่วยเป็นโรคโควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo