3 นักวิทยาศาสตร์ “อแลง แอสเปกต์” ชาวฝรั่งเศส “จอห์น เอฟ. คลอเซอร์” ชาวอเมริกัน และ “แอนตัน ไซลิงเกอร์” ชาวออสเตรีย คว้ารางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2565 จากผลงานความสำเร็จ ในเรื่อง “กลศาสตร์ควอนตัม” การศึกษาพฤติกรรมของอนุภาค และอะตอม
คณะกรรมการโนเบล ระบุว่า แอสเปกต์ วัย 75 ปี คลอเซอร์ วัย 79 ปี และไซลิงเกอร์ วัย 77 ปี ได้รับรางวัลในปีนี้ จากการทดลองของพวกเขา ที่รู้จักกันในชื่อ “ความพัวพัน” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อันน่าเหลือเชื่อ เมื่ออนุภาค 2 อนุภาค มีพฤติกรรมเหมือนเป็นอนุภาคเดียว และส่งผลต่อกันและกัน แม้จะอยู่ห่างไกลกันมาก อย่างอยู่คนละฝั่งของโลก หรือแม้กระทั่งคนละฝั่งของระบบสุริยะ
ราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์สวีเดน ระบุว่า การทดลองของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คน แสดงให้เห็นว่า ความพัวพันของควอนตัมเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎีเท่านั้น และเป็นการวางพื้นฐานให้กับเทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ ส่งผลให้ปัจจุบันมีงานศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง ที่ครอบคลุมทั้งคอมพิวเตอร์เชิงควอนตัม เครือข่ายของควอนตัม และการสื่อสารแบบเข้ารหัสควอนตัม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- 5 เรื่องควรรู้ ในสัปดาห์ประกาศ ‘รางวัลโนเบล’
- 3 นักวิทย์ฯ ‘สหรัฐ-เยอรมนี-อิตาลี’ คว้า ‘โนเบลฟิสิกส์’ ปี 64 จากผลงาน ‘ไขความลับภูมิอากาศโลก’
- ‘อิ๊ก โนเบล’ มาแล้ว! ‘แมงป่องท้องผูก-เป็ดน้อยแถวตรง-ศึกษารักแรกพบ’ คว้ารางวัล ปี 65