World News

3 นักวิทย์ฯ ‘สหรัฐ-เยอรมนี-อิตาลี’ คว้า ‘โนเบลฟิสิกส์’ ปี 64 จากผลงาน ‘ไขความลับภูมิอากาศโลก’

3 นักวิทยาศาสตร์ สหรัฐ เยอรมนี และอิตาลี คว้ารางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2564 ไปครอง จากผลงานการวิเคราะห์ และให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์หลากหลายแบบ ที่ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบทางกายภาพที่ซับซ้อน”  อย่างเช่น ระบบความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก 

บีบีซี รายงานว่า ศ. ชูคุโระ มานาเบะ นักวิจัยชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ของสหรัฐ คว้ารางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2564 ไปครอง จากการที่ในช่วงทศวรรษ 60 เขาค้นพบว่า การเพิ่มขึ้นของระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้นไปด้วย โดยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า จะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส

โนเบลฟิสิกส์

จากนั้น ในอีกประมาณ 10 ปีต่อมา ศ.เคลาส์ ฮาสเซิลมานน์ นักฟิสิกส์ จากสถาบันมักซ์ พลังก์ เพื่อการศึกษาด้านอุตุนิยมวิทยา (MPI-M) ของเยอรมนี ได้สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลสภาพอากาศ  และความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (climate) เข้าด้วยกันได้ ซึ่งช่วยตอบคำถามว่า เหตุใดแบบจำลองภูมิอากาศ สามารถทำนายถึงแนวโน้มระยะยาวของลมฟ้าอากาศได้แม่นยำ แม้ข้อมูลสภาพอากาศในระยะสั้นจะแปรปรวนผันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาก็ตาม

การค้นพบของศ. มานาเบะ และ ศ. ฮาสเซิลมานน์ ช่วยไขความกระจ่างในเรื่องของระบบภูมิอากาศโลก ซึ่งจัดเป็นระบบทางกายภาพที่ซับซ้อน ทั้งยังนำไปสู่การสร้างแบบจำลอง ที่ช่วยทำนายได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอย่างไร

ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์อีกคนหนึ่ง ในปีนี้ ได้แก่ ศ.จอร์จิโอ ปาริซี ผู้เชี่ยวชาญทฤษฏีสนามควอนตัม จากมหาวิทยาลัยซาเปียนซา แห่งอิตาลี โดยคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลในปีนี้ กล่าวถึงผลงานของเขาว่า เป็นการค้นพบปฏิสัมพันธ์ ระหว่างความยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ (disorder) กับความผกผันเปลี่ยนแปลง (fluctuation) ในระบบทางกายภาพ ทั้งในระดับที่เล็กจิ๋วอย่างอะตอม ไปจนถึงระดับใหญ่ยักษ์อย่างดวงดาวต่าง ๆ

โนเบลฟิสิกส์
ชูคุโระ มานาเบะ, เคลาส์ ฮาสเซิลมานน์, จอร์จิโอ ปาริซี

คำอธิบายของ ศ.ปาริซี ถึงระบบทางกายภาพที่ซับซ้อนในเชิงควอนตัมดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายแนวทาง ทั้งกับการคำนวณคณิตศาสตร์ขั้นสูง การเรียนรู้ของเครื่องกลปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งการพัฒนางานวิจัยทางชีววิทยา และประสาทวิทยา

ศ. ปาริซี จะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งจากเงินรางวัลทั้งหมด 10 ล้านโครนสวีเดน ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้น จะแบ่งกันระหว่าง ศ. มานาเบะ และศ. ฮาสเซิลมานน์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo