World News

จับตา ‘ลาว’ เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เจอ ‘วิกฤติหนี้พันล้าน’ กู้เงินจีนลงทุน ‘โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่’

ผู้เชี่ยวชาญต่างชี้ว่า “ลาว” ประเทศที่มีโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่  กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะ “ผิดนัดชำระหนี้” เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามในยูเครน

ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “มูดี้ส์” สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของ “ลาว” มาอยู่ที่ระดับ “Caa3” ซึ่งหมายถึง “มีภาระหนี้” ที่สูงมาก และมี “เงินสำรอง” ในการแลกเปลี่ยนสกุลต่างชาติ ไม่เพียงพอต่อหนี้ต่างประเทศ ที่กำลังจะครบกำหนดชำระ พร้อมเตือนว่า ลาวมีความเสี่ยงระดับสูงในการผิดนัดชำระหนี้

ผิดนัดชำระหนี้

ก่อนหน้านี้ รายงานของธนาคารโลก ที่ออกมาในเดือนเมษายน ประเมินว่าในปี 2564 หนี้สาธารณะ และหนี้ที่ภาครัฐค้ำประกันของลาว แตะระดับ 88% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยหนี้ดังกล่าวมีมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งราวครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้จากจีน เพื่อใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ รวมถึงโครงการรถไฟจีน-ลาว

หลายวิกฤติทำลาวเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

เกรก เรย์มอนด์ อาจารย์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าววีโอเอ ว่า วิกฤติที่รัฐบาลเวียงจันทน์กำลังเผชิญอยู่นั้น มีที่มาทับซ้อนอยู่หลายชั้น

“ปัจจัยต่อวิกฤติการคลังลาวในระยะสั้นตอนนี้ มาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ทำให้ค่าเงินลาวอ่อนค่าหนัก แต่เหตุผลที่ลึกกว่านั้น คือการตัดสินใจระดับประเทศ ในการเป็นหนี้มูลค่ามหาศาล เพื่อเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่”

ในปีผ่านมา จีนคือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาว ผ่าน 813 โครงการ มูลค่ารวมมากกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทางการลาวอ้างอิงตัวเลขจากรายงานของสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนในเรื่องนี้

การได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศจีน เพื่อใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า “กับดักหนี้” กำลังส่งผลต่อศรีลังกา และประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

นับตั้งแต่ปี 2556 จีนทุ่มงบประมาณมากกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์ ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โดยถือว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้จีนขายสินค้าได้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มสัญญาว่าจ้างสำหรับบริษัทก่อสร้างของจีน รวมทั้งยังส่งสัญญาณถึงการ “คานอำนาจต่อสหรัฐ” ด้วย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐ และประเทศอื่น ๆ กล่าวหาว่า จีนกำลังดำเนินการ “การทูตแบบติดกับดักหนี้” (debt-trap diplomacy) ซึ่งหมายถึงการทำให้ประเทศที่มีความอ่อนแอด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากจีน แต่นักการทูตจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้น

ผิดนัดชำระหนี้

ในช่วงต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (จี7) ได้ให้คำมั่นว่า จะระดมทุนมูลค่า 600,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อตอบโต้ความพยายามของจีนในประเด็นนี้

เป็นหนี้จีนกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ 

สถาบันวิจัยเอดดาต้า แล็บ (AidData Lab) วิทยาลัยวิลเลียม แอนด์ แมรีย์ ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐ ซึ่งติดตามข้อมูลหนี้ ที่เกิดจาก โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ชี้ว่า ตามสถิติการวิจัย หนี้สาธารณะของลาวที่มีกับจีน อยู่ที่ประมาณ 12,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารโลกได้คำนวณไว้เป็นอย่างมาก

เอดดาต้า แล็บ อธิบายว่าได้ใช้แหล่งข้อมูล และวิธีจัดการข้อมูลที่แตกต่างจากธนาคารโลก อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะใช้วิธีใด การประเมินจีดีพีต่อหัวประชากร หรือค่าเฉลี่ยที่หนึ่งคนสามารถสร้างมูลค่าจีดีพีขึ้นมาได้ ของลาว อยู่ที่ประมาณ 2,600 ดอลลาร์ หรือราว 93,000 บาทต่อปี ทำให้ลาว ที่มีประชากร 7 ล้านคน กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

แบรดลีย์ พาร์คส กรรมการบริหารของเอดดาต้า แล็บ ระบุว่า ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมารัฐบาลลาวทำสัญญาหรือค้ำประกันเงินกู้จากจีนมูลค่า 5,570 ล้านดอลลาร์ และชี้ว่ายังมียอดเพิ่มเติมอีก 6,690 ล้านดอลลาร์

รายงานของธนาคารโลก บ่งชี้ว่า ลาวต้องชำระหนี้ต่างประเทศ มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ต่อเนื่องทุกปี ไปจนถึงปี 2568 ซึ่งมูลค่าดังกล่าว เกือบเท่ากับปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ภายในประเทศทั้งหมด

ธนาคารโลกคาดว่า ในปีนี้เศรษฐกิจของลาวจะเติบโตในอัตรา 3.8% แต่เตือนว่าตัวเลขการเติบโตดังกล่าว จะไม่เพียงพอสำหรับรัฐบาลในการชำระหนี้ต่างประเทศ

ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในการประชุมสภาแห่งชาติลาว บุญชม อุบลประเสริฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของลาว ชี้ว่า ลาวต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้นในปีนี้ จากระดับ 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 มาอยู่ที่ 1,400 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังของลาว กล่าวว่า การกู้เงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ และยืนยันว่า จะไม่ยอมให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้ โดยวางแผนปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ จากทรัพยากรธรรมชาติที่มี อย่างเช่น การทำเหมืองแร่ รวมทั้งจำกัดการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประชาชนทั่วไป

ผิดนัดชำระหนี้

โครงการตัวอย่าง เช่น รถไฟเส้นทางจีน-ลาว ที่เชื่อมต่อระหว่าง เมืองคุนหมิง ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ ของลาว ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 5,900 ล้านดอลลาร์ โดยลาวคาดหวังว่า รถไฟเส้นทางดังกล่าว จะลดต้นทุนการขนส่ง กระตุ้นการส่งออก รวมไปถึงช่วยในเรื่องการท่องเที่ยว

ลาวกู้ยืมจากจีนสำหรับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวจำนวน 1,900 ล้านดอลลาร์ แต่โครงการรถไฟสายนี้ ถือหุ้นโดยบริษัทของรัฐบาลจีน 3 แห่งในสัดส่วน 70% และรัฐบาลลาวถือหุ้นในสัดส่วน 30%

รายงานของ เอดดาต้า แล็บ ระบุว่า ในปี 2564 ธนาคารกลางจีน ได้ออกเงินกู้ฉุกเฉิน มูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคารกลางของลาว เพื่อสนับสนุนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารของ เอดดาต้า แล็บ กล่าวว่า ธนาคารที่ถูกควบคุมโดยทางการจีน มักเต็มใจที่จะผ่อนผัน และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ มากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ย และในบางกรณี ธนาคารดังกล่าวจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้แน่ใจว่าตลอดการกู้ยืมนั้น จะได้รับการชำระคืนตามมูลค่าปัจจุบันของเงินกู้ดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo