World News

‘มอร์แกน สแตนลีย์’ ชี้ ‘เศรษฐกิจสหรัฐ’ เสี่ยงถดถอย 50% แต่มั่นใจ ‘เฟด’ คุมเงินเฟ้อได้

ซีอีโอ “มอร์แกน สแตนลีย์” ชี้ มีความเป็นไปได้ 50% ที่เศรษฐกิจสหรัฐ กำลังเดินหน้าสู่ภาวะถดถอย เพิ่มขี้นจากเดิมที่เขาประเมินความเสี่ยงไว้ที่ราว 30% แต่ยังมั่นใจว่า “เฟด” จะคุมเงินเฟ้อไว้ได้ในที่สุด

นายเจมส์ กอร์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า มีโอกาส 50% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้สถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงก็ตาม พร้อมเตือนว่านักลงทุนเสี่ยงเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก

“ตอนนี้ เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอย 50%” นายกอร์แมนกล่าวในที่ประชุมที่จัดโดยมอร์แกน สแตนลีย์ หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมา เขาคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสถดถอยอยู่ที่ราว 30% เท่านั้น

shutterstock 1714660897

อย่างไรก็ดี เขาแสดงความมั่นใจว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะสามารถดึง “เงินเฟ้อ” ให้ร่วงลงมาจากระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปีได้

“ผมว่า ช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ เราไม่น่าจะตกลงไปในหลุ่มขนาดใหญ่แต่อย่างใด ผมว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว เฟดจะคุมเงินเฟ้อเอาไว้ได้”

กระนั้นก็ตาม เขาชี้ว่า เฟดรอนานเกินไป กว่าที่จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ทำให้พวกเขาเหลือพื้นที่ไม่มากนักที่จะดำเนินการใด ๆ หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมา

การแสดงความเห็นดังกล่าวของนายกอร์แมน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ ตลาดหุ้นสหรัฐกำลังดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) แล้ว เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) หลังร่วงลงกว่า 20% จากระดับปิดสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าเศรษฐกิจอาจถดถอย

อย่างไรก็ดี บรรดาผู้บริหารที่ขึ้นกล่าวในการประชุมอุตสาหกรรมการเงินของมอร์แกน สแตนลีย์ เปิดเผยว่า ผู้บริโภคและบริษัทสหรัฐ ยังคงมีสถานะทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวจากภาวะหดตัว และป้องกันธนาคารจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจหดตัวได้

นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมถึงบาร์เคลย์ส และแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ต่างคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%

ความเป็นไปได้ในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อของเฟดนั้น ทำให้เกิดความวิตกว่า จะฉุดรั้งเศรษฐกิจ นักลงทุนจึงแห่เทขายสินทรัพย์เสี่ยงและเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น เงินดอลลาร์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo