World News

‘ไอเอ็มเอฟ’ เตือน ‘เศรษฐกิจเกิดใหม่’ จัดมาตรการ รับมือ ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย

“นักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ” เตือน “ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่” เตรียมมาตรการ พร้อมรับมือ “ธนาคารกลางสหรัฐ” ขึ้นดอกเบี้ย แนะใช้วิธีที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และความเสี่ยงของตัวเอง

บีบีซี รายงานว่า นายสเตฟาน แดนนิงเกอร์ นายเคนเนธ คัง และนางเอเลน ปัวร์ซง 3 นักเศรษฐศาสตร์ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เขียนบทวิเคราะห์บน เว็บบล็อกของไอเอ็มเอฟ โดยระบุว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ต้องเตรียมพร้อมรับมือ กับการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยจะต้องเป็นการจัดเตรียมนโยบายไว้หลายระดับ ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของเฟด และความท้าทายที่เกิดขึ้นในบ้านเกิด

บทความนี้ เตือนด้วยว่า ประเทศที่มีหนี้สินมาก อาจจะต้องขยายเวลาการชำระหนี้ที่ครบกำหนด และอาจต้องเริ่มใช้มาตรการทางการคลังให้เร็วขึ้น

shutterstock 1725881164

ความเป็นไปได้ที่เฟด อาจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเดือนนั้น จะทำให้ตลาดเกิดใหม่ มีความไม่แน่นอนมากขึ้น  ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ และหนี้สาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น โดยหนี้รัฐบาลโดยเฉลี่ยในตลาดเกิดใหม่ เพิ่มขึ้นเกือบ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นับตั้งแต่ปี 2562 และอาจเพิ่มถึงระดับ 64% ของจีดีพี เมื่อสิ้นปีที่แล้ว

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของประเทศเหล่านี้ แข็งแกร่งน้อยกว่าสหรัฐ แม้ว่าสำหรับหลายประเทศแล้ว ต้นทุนในการกู้ยืมเงินดอลลาร์ จะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในประเทศ และเงินทุนจากต่างประเทศที่ไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดเกิดใหม่หลายประเทศรวมถึง บราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้ เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปีที่แล้ว

บทความ ยังบอกว่า ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ไม่น่าจะรุนแรง ถ้ามีการค่อย ๆ ลดค่าใช้จ่าย สื่อสารอย่างชัดเจน และรับมือกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง สกุลเงินของตลาดเกิดใหม่อาจจะยังอ่อนค่าลง แต่อุปสงค์จากต่างประเทศจะชดเชยผลกระทบที่เกิด จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี การที่เฟด อาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อในประเทศ อาจสร้างความกังวลต่อตลาดการเงิน และทำให้มีการเพิ่มความเข้มงวดทางการเงินเกิดขึ้นทั่วโลก และถ้าสถานการณ์นี้ เกิดขึ้นพร้อมกับความต้องการ และการค้าที่ลดลงของสหรัฐ  อาจทำให้เกิดกระแสเงินไหลออก และสกุลเงินประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลงได้

ในการรับมือกับปัญหาเงินทุนที่ตึงตัวมากขึ้น ตลาดเกิดใหม่ควรเลือกวิธีการรับมือ ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และความเสี่ยงของตัวเอง ประเทศที่ใช้นโยบายควบคุมเงินเฟ้อได้ดี อาจจะค่อย ๆ เพิ่มความเข้มงวดนโยบายการเงินมากขึ้น

ส่วนประเทศที่มีแรงกดดันด้านเงินมากกว่า หรือสถาบันต่าง ๆ มีความอ่อนแอมากกว่า อาจจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและครอบคลุม แต่ไม่ว่าจะกรณีใด ควรจะปล่อยให้สกุลเงินอ่อนค่าลง และขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐาน หากเกิดความวุ่นวายในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกลางที่มีทุนสำรองเพียงพออาจจะแทรกแซงได้

แต่การเคลื่อนไหวนี้ อาจทำให้เกิดทางเลือกที่ยากลำบากสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เพราะจะต้องเลือกระหว่างการช่วยเหลือเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่อ่อนแอ กับการคุ้มครองราคา และเสถียรภาพจากภายนอก

นอกจากนี้ การขยายการช่วยเหลือแก่ธุรกิจต่าง ๆ มากกว่ามาตรการที่มีอยู่ อาจจะกระทบความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ และทำให้สถาบันการเงินมีความอ่อนแอลงในระยะยาว ด้วยการเลื่อนการยอมรับการขาดทุนออกไป การนำมาตรการเหล่านี้มาใช้อาจจะทำให้สภาพการเงินมีความตึงตัวมากขึ้น และส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอ่อนแอลง

การจัดการกับทางเลือกเหล่านี้ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจจะต้องใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการดำเนินนโยบาย และลดความเสี่ยงต่าง ๆ ลง  ควรจะทบทวนความช่วยเหลือด้านนโยบายการเงินต่อภาคธุรกิจ และแผนปรับลดความช่วยเหลือดังกล่าว ลงมาอยู่ในระดับปกติ ก็ควรจะสอดคล้องกับการคาดการณ์ในอนาคต และเสถียรภาพทางการเงิน

shutterstock 1699344271

สำหรับประเทศที่มีหนี้ภาคเอกชน และหนี้เสียสูง ตั้งแต่ช่วงก่อนการระบาดใหญ่ ธนาคารและผู้ปล่อยกู้ที่ไม่ใช่ธนาคารที่อ่อนแอลง อาจเผชิญกับความกังวลด้านความสามารถในการชำระหนี้ ถ้าการเงินประสบกับความยุ่งยาก ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมการแก้ปัญหาไว้

นอกเหนือจากมาตรการที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเหล่านี้ นโยบายการคลังอาจช่วยสร้างความแข็งแกร่งต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ การให้คำมั่นสัญญาที่มีความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับนโยบายการคลังระยะกลาง จะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเพิ่มพื้นที่ในการช่วยเหลือทางการคลังในช่วงขาลง

กลยุทธ์ดังกล่าวอาจจะรวมถึง การประกาศแผนการที่ครอบคลุมในการค่อย ๆ เพิ่มรายได้ภาษี การพัฒนาประสิทธิภาพด้านการใช้จ่าย หรือการปฏิรูปด้านโครงสร้างทางการคลัง อย่างการยกเครื่องด้านเงินช่วยเหลือและเงินบำนาญ

แม้จะมีการคาดการณ์ว่า  เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และปีหน้า แต่ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงอยู่ในระดับสูงจากการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาใหม่

หากเกิดขึ้นตรงกับช่วงที่เฟดเพิ่มความเข้มงวดทางการเงินมากขึ้น ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ควรจะเตรียมพร้อมรับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้น ๆ ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo