World News

เปิด 5 นโยบาย ‘โจ ไบเดน’ หนุน ‘รถไฟฟ้า’ แดนอเมริกัน

การที่ “เทสลา” ทะยานขึ้นมาเป็น ค่ายรถยนต์ที่มีมูลค่าทางตลาดสูงสุดในโลก ได้ดึงความสนใจของนักลงทุน ให้เข้าไปสู่บรรดาสตาร์ทอัพ ด้าน “รถยนต์ไฟฟ้า” (EV) ทั้งยังทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายหลัก อย่าง เจนเนอรัล มอเตอร์ส (GM) ที่หันไปผลิตรถยนต์ประเภทนี้ ดึงเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้มากขึ้นด้วย

ความสนใจดังกล่าว ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ภายใต้รัฐบาล “โจ ไบเดน” ผู้ที่กำหนดให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กลายเป็นนโยบายสำคัญอันดับแรก ๆ ของรัฐบาลเขา

นโยบายนี้ รวมถึง การให้แรงจูงใจผู้บริโภค เพื่อให้หันมาใช้ EV ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า แทนน้ำมัน และปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

viden

เปลี่ยนรถยนต์รัฐบาล เป็น รถยนต์ไฟฟ้า

ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ เดินหน้าในด้านนี้ไปแล้ว ด้วยการประกาศว่า รถยนต์ของรัฐบาล 650,000 คัน จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ผลิตในสหรัฐทั้งหมด สอดคล้องนโยบายพลังงานสะอาดของรัฐบาล และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ

ไบเดน วิจารณ์กฏหมายก่อนหน้านี้ว่า รถยนต์ที่ทางการรัฐบาลซื้อ เป็นรถยนต์ที่ “ผลิตในสหรัฐ” แต่ชิ้นส่วนสำคัญนำเข้ามาจากประเทศอื่น ซึ่งตามคำสั่งพิเศษ “ซื้อของอเมริกา” ที่ไบเดนเพิ่งลงนามไปนั้น จะทำให้ในสถานการณ์นี้ ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ จะต้องมาจากการผลิตภายในประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกัน อาจต้องลงทุนถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ หากจะนำรถยนต์ไฟฟ้า มาแทนรถยนต์ของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งนับถึงเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐมีรถไฟฟ้าเพียง 3,215 คันเท่านั้น

5 นโยบายหนุนรถไฟฟ้าในสหรัฐ

แผนการของไบเดน สำหรับการหนุนยอดขาย และดันราคาหุ้นผู้ผลิต EV ที่เด่นๆ มีอยู่ 5 ด้านด้วยกัน

CAFE

กฎข้อบังคับด้านเชื้อเพลิงเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการในชื่อ มาตรฐานการประหยัดเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยขององค์กร (Corporate Average Fuel Economy : CAFE) ที่ออกแบบมาเพื่อผลักดันให้ บริษัทรถยนต์รายต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานให้กับยานยนต์ของตัวเอง ที่จะทำให้สหรัฐลดการพึ่งพาน้ำมัน

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น ไบเดนให้คำมั่นถึง การสร้างมาตรฐานด้านเชื้อเพลิงเศรษฐกิจ และการเจรจาเรื่องนี้ กับกลุ่มสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตรถยนต์ และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

การกำหนดมาตรฐานขึ้นมาใหม่ หรือปรับปรุงมาตรฐานเดิมที่มีอยู่ เพื่อมุ่งเน้นไปที่ EV มากขึ้น จะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ เปลี่ยนไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดได้เร็วขึ้น

รถยนต์ไฟฟ้า

เงินสดสำหรับรถเก่า

ไบเดนเคยบอกว่า เขาสนับสนุนโครงการรถเก่าแลกเงินสด ที่จะช่วยกระตุ้นให้ชาวอเมริกัน นำรถยนต์เก่าของตัวเอง มาแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ได้

ในสมัยรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็เคยดำเนินโครงการทำนองเดียวกันมาแล้ว คือ โครงการ Car Allowance Rebate System (CARS) นำรถยนต์เก่ามาแลกซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ ที่มีประหยัดน้ำมันมากขึ้น โดยได้ส่วนลดสูงสุด 4,500 ดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ใหม่ และอัดฉีดเศรษฐกิจในช่วงเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ปี 2552

ลดหย่อนภาษี

ปัจจุบัน ผู้บริโภคจะได้ลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลกลางสูงสุด 7,500 ดอลลาร์ สำหรับการซื้อรถยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคัน หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบบปลั๊กอินไฮบริด แต่โครงการนี้ก็ไม่ครอบคลุมถึงรถยนต์ทุกคัน และจะยุติลง หลังจากที่ค่ายผู้ผลิต ขายรถ EV ได้ถึง 200,000 คันแล้ว

จนถึงขณะนี้ มีแค่เพียง เทสลา และ GM เท่านั้น ที่มียอดขายถึงเป้าดังกล่าว และทั้ง 2 บริษัทต่างก็เคยล็อบบี้สภาคองเกรสอย่างหนัก เพื่อยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าว หรือขยายระยะเวลาการลดหย่อนภาษีออกไปอีก

ส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันพลังงานสะอาดของไบเดน คือ การกำหนด หรือให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่อพลังงานสะอาด รวมถึง การลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

แผนการของผู้นำใหม่สหรัฐ แตกต่างจากระบบปัจจุบันอยู่บ้าง โดยกรอบการทำงานใหม่นี้ ถูกออกแบบมาเพื่อพุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลาง และเน้นการให้ความสำคัญ กับการซื้อรถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐเป็นอันดับแรกๆ

รถยนต์ไฟฟ้า

โครงสร้างพื้นฐาน

ไบเดน ให้คำมั่นถึงการลงทุนสาธารณะจำนวน 400,000 ล้านดอลลาร์ในด้านพลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึง เทคโนโลยีแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้า

แผนการดังกล่าว ยังรวมถึง การทุ่มเทการใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการจัดสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าแห่งใหม่ 500,000 แห่ง ภายในสิ้นปี 2573

การขาดโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ประกอบการค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่ชาร์จไฟรถยนต์ และการชาร์จไฟที่ใช้เวลานาน ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ผู้บริโภคอเมริกันหยิบยกขึ้นมาพูดถึง หากต้องให้เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน สหรัฐ มีสถานีชาร์จไฟสาธารณะสำหรับ EV ไม่ถึง 29,000 แห่ง เทียบกับสถานีบริการน้ำมัน ที่มีมากกว่า 136,000 แห่ง

รถยนต์ไฟฟ้า

การอัดฉีด

นับเป็นเวลานานมาแล้ว ที่รัฐบาลสหรัฐ ได้ให้การสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ภายใต้โครงการกู้ยืม และยกเว้นภาษี เพื่อการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ

ตัวอย่างเช่น เทสลา ที่กู้ยืมเงินจำนวน 465 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมกราคม 2553 ภายใต้โครงการการผลิตรถยนต์เทคโนโลยีก้าวหน้า ของกระทรวงพลังงานสหรัฐ
การขยายโครงการดังกล่าว จะช่วยให้เหล่าบริษัทสตาร์ทอัพ อย่าง ลอร์ดส์ทาวน์ มอเตอร์ส และ ฟิสเกอร์ พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo