World News

‘รูปปั้นโคลัมบัส’ ถูกโค่นต่อเนื่อง ‘ฟิลาเดลเฟีย’ เอาด้วย ชี้เป็นจุดเริ่มฆ่าชนพื้นเมือง

“รูปปั้นโคลัมบัส” ในสหรัฐถูกโค่นต่อเนื่อง ล่าสุด “เมืองฟิลาเดลเฟีย” จ่อถอนด้วย ชี้การค้นพบอเมริกาเป็นจุดเริ่มฆ่าชนพื้นเมือง

สำนักงานของจิม เคนนีย์ (Jim Kenney) นายกเทศมนตรีฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐเพนซิลวาเนียทางตะวันออกของสหรัฐ ประกาศว่า ฟิลาเดลเฟียกำลังวางแผนรื้อถอนรูปปั้นของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ในมาร์โคนีพลาซา จัตุรัสสวนสาธารณะทางตอนใต้ของเมือง

รูปปั้นโคลัมบัส

สำนักงานระบุในแถลงการณ์ว่า ความตึงเครียดระหว่างผู้คนที่สนับสนุนและต่อต้าน รูปปั้นโคลัมบัส “ย่ำแย่ลงจนทำให้กังวลถึงสถานการณ์ความปลอดภัยสาธารณะ”

แถลงการณ์ระบุว่า โคลัมบัสกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณูปการของชาวอิตาลีในประวัติศาสตร์อเมริกา อย่างไรก็ดี “นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ได้เปิดเผยเอกสารระบุว่า การค้นพบอเมริกาของเขานั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการแก่งแย่งที่อยู่อาศัยและการฆ่าล้างกลุ่มคนพื้นเมือง”

รูปปั้นโคลัมบัส

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) รายงานว่า ทางเมืองจะร้องขอให้คณะกรรมการศิลปะฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia Art Commission) อนุมัติการรื้อถอน รูปปั้นโคลัมบัส ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 โดยจะเปิดให้ประชาชนร่วมลงนามในหนังสือคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรจนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม

ทั้งนี้ รูปปั้นของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสในหลายเมืองทั่วสหรัฐ อาทิ บอสตัน มินนิแอโพลิส และริชมอนด์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐเวอร์จิเนีย กำลังถูกถอดหรือขีดเขียนจนได้รับความเสียหาย ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านความรุนแรงของตำรวจและประเด็นด้านเชื้อชาติ อีกทั้งมีการถกเถียงเกี่ยวกับรูปปั้นสัญลักษณ์สมาพันธรัฐ ซึ่งแสดงถึงการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว รวมถึงอนุสรณ์สถานอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งด้วย

ทั้งนี้ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นนักสำรวจชาวอิตาลี ผู้มีชีวิตช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นที่รู้จักในฐานะนักสำรวจผู้ค้นพบ”โลกใหม่” ซึ่งเปิดทางให้บรรดาชาติมหาอำนาจยุโรปเข้าไปล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกา เป็นชนวนเหตุไปสู่การค้าทาสและกดขี่ชนพื้นเมือง

ด้านพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกัน (AMNH) ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ เปิดเผยแผนการเคลื่อนย้ายรูปปั้น ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ขี่ม้า พ้นจากบริเวณทางเข้า เนื่องจากสะท้อนการแบ่งลำดับชั้นทางเชื้อชาติ

นครนิวยอร์ก เจ้าของรูปปั้นสัมฤทธิ์ของประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 26 ซึ่งขนาบข้างด้วยชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันและชาวอเมริกันพื้นเมือง และพิพิธภัณฑ์ได้อนุมัติคำขอเคลื่อนย้ายรูปปั้นที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 1940 เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

“รูปปั้นนี้สื่อว่า ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เป็นนักธรรมชาติวิทยาและนักเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ธรรมชาติผู้อุทิศตน” แถลงการณ์ของพิพิธภัณฑ์ฯ ระบุ “แต่รูปปั้นก็สื่อถึงการลำดับชั้นทางเชื้อชาติ ซึ่งทำให้พิพิธภัณฑ์ฯ และสาธารณชนรู้สึกไม่สบายใจมาเนิ่นนาน”

ด้านบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก เผยผ่านแถลงการณ์ว่านครนิวยอร์กสนับสนุนคำร้องขอเคลื่อนย้ายรูปปั้นของพิพิธภัณฑ์ฯ โดยชี้ว่า “เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่เวลาในการย้ายรูปปั้นที่เป็นปัญหานี้”

การดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ฯ เกิดขึ้นท่ามกลางกระแส “คิดบัญชีแค้นความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ” ระลอกใหม่ในสหรัฐ ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงกรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ได้หันมาเล็งเป้าที่รูปปั้นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ผู้เกี่ยวข้องกับความเป็นทาส

รูปปั้นโคลัมบัส

เมื่อสัปดาห์ก่อน รูปปั้นนาธาเนียล รอเชสเตอร์ (Nathaniel Rochester) ผู้ก่อตั้งเมืองรอเชสเตอร์ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก ก็ถูกฉีดพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ โดยรอเชสเตอร์เป็นบุคคลแห่งสงครามปฏิวัติและเจ้าของข้าทาส

สมาชิกสภานครนิวยอร์กยังเรียกร้องให้เคลื่อนย้ายรูปปั้น โทมัส เจฟเฟอร์สัน ออกจากศาลากลาง โดยเอกสารทางประวัติศาสตร์ระบุว่าเจฟเฟอร์สันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 3 และครอบครองทาสชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมากกว่า 600 ราย

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงในอังกฤษเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดถอดรูปปั้นของเซซิล โรดส์ (Cecil Rhodes) นักธุรกิจชาวสหราชอาณาจักรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่าอาณานิคมในแอฟริกาใต้ ซึ่งตั้งอยู่นอกวิทยาลัยโอเรียล (Oriel College) ในเมืองออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานว่ากลุ่มผู้ประท้วง “แบล็ก ไลฟ์ แมตเทอร์” (Black Lives Matter) หลายร้อยคนรวมตัวกันในออกซ์ฟอร์ด เพื่อเรียกร้องให้มีการถอดรูปปั้นเซซิล โรดส์ หลังเกิดเหตุการณ์โค่นล้มรูปปั้นสัมฤทธิ์ของเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) พ่อค้าทาสสมัยศตวรรษที่ 17 ระหว่างการประท้วงในเมืองบริสตอลเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563

cover ๒๐๐๖๐๔ 0181

ทั้งนี้ การเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส 4 คนจับกุม โดยเขาถูกกดลงกับพื้น หลังจากตำรวจได้รับรายงานว่าฟลอยด์ใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 630 บาทปลอมในการซื้อบุหรี่ ได้จุดฉนวนให้เกิดการประท้วงการใช้ความรุนแรงของตำรวจและการเหยียดเชื้อชาติไปทั่วโลก

โดยการเสียชีวิตของฟลอยด์จุดประกายการประท้วงทั่วสหรัฐ เพื่อต่อต้านการกระทำเหี้ยมโหดและการเหยียดเชื้อชาติของตำรวจ การประท้วงได้ทวีความรุนแรงจนเกิดการจลาจลขึ้นหลายแห่งในสหรัฐ

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo