World News

เปิดสอบ ‘สำนักตำรวจรัฐ’ ปมเลือกปฏิบัติกรณี ‘จอร์จ ฟลอยด์’ ดับสลด

มินนิโซตาสอบสวน “สำนักตำรวจรัฐ” ปมเลือกปฏิบัติกรณี “จอร์จ ฟลอยด์’ ดับสลด หวังรื้อโครงสร้างการเหยียดเชื้อชาติ

จอร์จ ฟลอยด์

ทิม วอลซ์ (Tim Walz) ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา สหรัฐ ระบุว่า มินนิโซตาเตรียมเปิดการสืบสวน สำนักตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส (MPD) ในด้านสิทธิพลเมือง หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจของเมือง 4 คนเกี่ยวพันกับเหตุฆาตกรรมที่โหดร้ายของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำไร้อาวุธเมื่อสัปดาห์ก่อน

วอลซ์ระบุว่า สำนักงานสิทธิมนุษยชนของมินนิโซตาได้ยื่นฟ้องสำนักตำรวจเมืองมินนิแอโพลิสด้วยข้อหาด้านสิทธิพลเมือง และจะตรวจสอบ “นโยบาย ระเบียบการ และวิถีปฏิบัติช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อตัดสินว่าสำนักตำรวจมีการเลือกปฏิบัติในเชิงระบบหรือไม่”

เจ้าหน้าที่ของผมจะใช้เครื่องมือและวิถีทางทั้งหมดที่มีเพื่อกำจัด และรื้อโครงสร้างการเหยียดเชื้อชาติเชิงระบบ ที่มีมาหลายชั่วอายุคนในรัฐมินนิโซตา” วอลซ์โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์หลังงานแถลงข่าว “การดำเนินการในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการในอนาคตอีกหลายๆ ประการ เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่มันหายไปนานเกินควร

ฟลอยด์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส 4 คนจับกุม โดยเขาถูกกดลงกับพื้น หลังตำรวจได้รับรายงานว่าฟลอยด์ใช้ธนบัตร 20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 630 บาทปลอมในการซื้อบุหรี่

ทั้งนี้ ผลชันสูตร 2 ฉบับที่ดำเนินการแยกกันชี้ว่า ฟลอยด์เสียชีวิตจากการฆาตกรรม

ไม่นานหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทั้ง 4 รายถูกปลดจากตำแหน่ง และเดเร็ก ชอวิน (Derek Chauvin) เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้หัวเข่ากดลำคอของฟลอยด์นานเกือบ 9 นาทีขณะที่ฟลอยด์ร้องขอชีวิตซ้ำๆ จนเสียชีวิต ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม (third-degree murder) และทำให้คนตายโดยไม่เจตนา (manslaughter)

“เราไม่ได้ดำเนินการเพื่อนำบุคคลใดบุคคลหนึ่งมารับโทษอาชญากรรม” รีเบกกา ลูเซโร (Rebecca Lucero) กรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของมินนิโซตา ซึ่งจะเป็นผู้นำการสืบสวนกล่าว “เราทำเพราะต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ”

การเสียชีวิตของฟลอยด์จุดประกายการประท้วงทั่วสหรัฐ เพื่อต่อต้านการกระทำเหี้ยมโหดและการเหยียดเชื้อชาติของตำรวจ ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังการประท้วงทวีความรุนแรงจนเกิดการจลาจลขึ้นหลายแห่งในสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (1 มิ.ย.) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาขู่ว่าจะใช้กำลังทหารจัดการกับผู้ประท้วง ทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหลายคนออกมากล่าวประณามเขา รวมถึงโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะเป็นคู่แข่งลงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีกับทรัมป์ในปีนี้

นิวยอร์กขยายเคอร์ฟิว

ที่มหานครนิวยอร์ก บิล เดอ บลาซิโอ (Bill de Blasio) นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กซิตี ประกาศขยายเคอร์ฟิวช่วง 20.00-05.00 น. ไปจนถึงเช้าวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อควบคุมการก่ออาชญากรรมระหว่างการประท้วงกรณีการตายของจอร์จ ฟลอยด์

โดยนิวยอร์กเริ่มบังคับใช้เคอร์ฟิวในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกของเมืองตั้งแต่ปี 2486 ไม่อนุญาตให้ประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 23.00 น. เป็นต้นไป แต่ยังคงเกิดการปล้นทรัพย์ในร้านค้าเขตแมนแฮตตันทันทีที่พระอาทิตย์ตกดิน

สำนักตำรวจนิวยอร์กซิตี (NYPD) ระบุว่า ตำรวจจับกุมประชาชนกว่า 200 รายก่อนเริ่มบังคับใช้เคอร์ฟิวในคืนวันที่ 1 มิถุนายน และตลอดคืนนั้นตำรวจจับกุมประชาชนได้กว่า 700 ราย ซึ่งส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาว

GettyImages 1216837202

ประท้วง จอร์จ ฟลอยด์ บานปลาย

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา การประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้ฟลอยด์บานปลาย บรรดาร้านค้าหรูทั่วสหรัฐ โดยเฉพาะในย่านร่ำรวยอย่างเบเวอรี ฮิลส์ และโซโห โดนบุกปล้น กวาดสินค้าเกลี้ยงร้าน จากกลุ่มผู้ก่อการจลาจล

ในย่านโซโห ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ขายสินค้าราคาแพงของสหรัฐ แม้ว่าในช่วงที่ร้านค้าส่วนใหญ่จะปิดให้บริการชั่วคราว เพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะไม่เจอกับการงัดแงะ หรือขโมยสินค้า แต่เหตุการณ์ประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับฟลอยด์ ที่เสียชีวิต กลับทำให้ร้านค้าสินค้าหรูในย่านนี้ โดนกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงบุกทำลาย และหยิบฉวยสินค้าภายในร้านไปจนหมด

ชาแนล โกยาร์ด กุชชี หลุยส์วิตตอง  และแอร์เมส ต่างเป็นแบรนด์สินค้าหรูที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ร้านค้าหรูจะตกเป็นเหยื่อเท่านั้น บรรดาห้างค้าปลีกรายใหญ่ อย่าง ทาร์เก็ต ธุรกิจ และร้านขายของชำ ล้วนตกเป็นเป้าหมายของผู้ก่อจลาจลด้วยเช่นกัน

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจจำนวนมากในสหรัฐ รวมถึง วอลมาร์ท และแอปเปิ้ล ตัดสินใจปิดสาขาหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลถึงความปลอดภัยของพนักงาน และลูกค้า หลังจากที่ร้านสาขาในหลายรัฐ ได้รับความเสียหายจากเหตุประท้วง ที่บานปลายกลายเป็นความรุนแรง

Avatar photo