World News

จอร์จ ฟลอยด์: ทรัมป์ลงนาม ‘ปฏิรูปตำรวจ’ ขณะความภูมิใจในชาติต่ำสุดรอบ 20 ปี

จากการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ “ทรัมป์” ลงนามคำสั่ง “ปฏิรูปตำรวจ” ห้ามเจ้าหน้าที่ล็อกคอยกเว้นตกอยู่ในอันตราย ขณะ “ความภูมิใจในชาติ” ของชาวอเมริกันตกต่ำสุดในรอบ 20 ปี

เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารด้านการปฏิรูปการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการต่อต้านพฤติกรรมอันโหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจและการเหยียดเชื้อชาติ

การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้น 3 สัปดาห์หลังการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันวัย 46 ปีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา ซึ่งจุดประกายเหตุประท้วงทั่วประเทศ

คำสั่งฝ่ายบริหารมุ่งเน้นไปที่ 3 ส่วน อันได้แก่

  • ระบบการรับรองคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • การกระตุ้นให้แบ่งปันข้อมูลเพื่อติดตามเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังเกินจำเป็น
  • การส่งเสริมโครงการผู้รับมือเหตุฉุกเฉินร่วม ทั้งทางด้านสุขภาพจิต การติดยาเสพติด และการไร้บ้าน โดยให้เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เข้ามาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

"จอร์จ ฟลอยด์

ทรัมป์กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า คำสั่งดังกล่าวยังห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ตำรวจล็อกคอโดยการกดบริเวณหลอดลมหรือเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอ (chokehold) ยกเว้นเมื่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านั้น

ขณะเดียวกันทรัมป์เน้นย้ำว่า เขาคัดค้านเสียงเรียกร้องที่ให้ตัดงบประมาณหรือยุบสำนักงานตำรวจอย่างถึงที่สุด พร้อมเสริมว่า “หากไม่มีตำรวจจะเกิดความวุ่นวาย หากไม่มีกฎหมายจะเกิดอนาธิปไตย และหากไม่มีความปลอดภัยจะเกิดความหายนะ”

ความเคลื่อนไหวจากทำเนียบขาวเกิดขึ้นพร้อมกับความพยายามของรัฐสภาในการปฏิรูปตำรวจ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตได้เสนอร่างกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรับประกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถรับผิดชอบต่อการประพฤติมิชอบ และเพิ่มความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน

ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาจากพรรครีพลับลิกันกำลังร่างกฎหมายของตนที่มุ่งเน้นเรื่องการแจ้งข้อมูล ภาระรับผิดชอบ การฝึกอบรม และความสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน

ทั้งนี้ ฟลอยด์ ชายผิวดำจากเมืองมินนิแอโพลิส ที่เสียชีวิตระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ถูกชันสูตรพลิกศพ 2  ครั้ง โดยดำเนินการแยกกัน แต่ผลชันสูตรระบุตรงกันว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเขาคือ การฆาตกรรม

จอร์จ ฟลอยด์

โควิด – จอร์จ ฟลอยด์ ทำความภูมิใจในชาติต่ำสุดรอบ 20 ปี

การสำรวจล่าสุดของ แกลลัพ (Gallup) ที่เผยแพร่ในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา เผยว่า ความภาคภูมิใจในชาติของชาวอเมริกันลดลงต่อเนื่องถึงจุดต่ำสุดในรอบสองทศวรรษ

  • 42% รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
  • 21% รู้สึกภูมิใจมาก
  • 15% ค่อนข้างภูมิใจ
  • 12% รู้สึกภูมิใจเพียงเล็กน้อย
  • 9% รู้สึกไม่ภูมิใจเลย

แม้ประชากรผู้ใหญ่ 63% เปิดเผยในแบบสำรวจล่าสุดว่า พวกเขารู้สึกภูมิใจ “เป็นอย่างยิ่ง” หรือภูมิใจ “มาก” ที่ตนเป็นคนอเมริกัน แต่ตัวเลขดังกล่าวลดลง 7 คะแนนจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 20 ปีนับ ตั้งแต่แกลลัพเริ่มทำการสำรวจดังกล่าวเป็นครั้งแรก

ตัวเลขที่ปรับลดลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐ กำลังเผชิญกับปัญหาด้านสาธารณสุขและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลพวงจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และเหตุการณ์ความไม่สงบหลังการเสียชีวิตของฟลอยด์

fig 15 06 2020 05 38 54

สัดส่วนชาวอเมริกันที่รู้สึกภูมิใจในประเทศของตนในระดับสูง ยังลดลงตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้

แกลลัพรวบรวมข้อมูลล่าสุดในข้างต้นระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม- 4 มิถุนายน 2563 ซึ่งยังพบอีกด้วยว่าชาวอเมริกัน 20% รู้สึกพึงพอใจกับสิ่งที่กำลังดำเนินไปในสหรัฐขณะนี้

นอกจากนั้น การสำรวจเมื่อเดือนมกราคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 บ่งชี้ว่าประชาชนอเมริกัน 55% รู้สึกภูมิใจในประเทศของตนเป็นอย่างยิ่ง ก่อนที่ในอีก 3 ปีถัดมาตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มแตะ 65% และ 70% เนื่องมาจากปรากฏการณ์กระแสความรักชาติในยามเผชิญวิกฤตหรือสงคราม

ทั้งนี้ ตัวเลขความภาคภูมิใจในชาติในปัจจุบันนั้นลดลงเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งจัดอยู่ระดับต่ำสุดในแนวโน้มการสำรวจของแกลลัพ

จอร์จ ฟลอยด์

อภิปรายปม “เหยียดเชื้อชาติ”

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตัดสินใจจะจัดการอภิปราย เร่งด่วนในประเด็น “การละเมิดสิทธิมนุษยชนสืบเนื่องจากการเหยียดเชื้อชาติในปัจจุบัน” ในวันนี้ (17 มิ.ย. 63) ระหว่างการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 43

คณะมนตรีระบุในแถลงการณ์ว่า การอภิปรายจะพูดถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ “การละเมิดสิทธิมนุษยชนสืบเนื่องจากการเหยียดเชื้อชาติ การเหยียดเชื้อชาติเชิงระบบ พฤติกรรมโหดร้ายของตำรวจ และการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ประท้วงโดยสันติ” ตามคำขอของประเทศบูร์กินาฟาโซ ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศในแอฟริกา (African Group)

บูร์กินาฟาโซส่งจดหมายถึงคณะมนตรีโดยระบุว่าการเสียชีวิตของ ฟลอยด์ ในเมืองมินนิแอโพลิส ของสหรัฐ ไม่ใช่เหตุการณ์เดี่ยวที่ไม่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย คณะมนตรีจึงควรนำมาอภิปราย

จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเสียชีวิตหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้หัวเข่ากดลำคอลงกับพื้นถนนนานเกือบ 9 นาที ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 จุดประกายการประท้วงขึ้นในทั่วโลก เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และพฤติกรรมโหดร้ายของตำรวจ

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo