World News

2 นักวิจัยคิดค้น ‘วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ’ คว้ารางวัลโนเบลการแพทย์ ปี 2566

นักวิจัย 2 คนที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องการดัดแปลงนิวคลีโอไซด์ อันนำมาซึ่งการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ร่วมกันคว้ารางวัลโนเบลการแพทย์ ประจำปี 2566

วันนี้ (2 ต.ค.) สมัชชาโนเบล แห่งสถาบันแคโรลินสกา ในกรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน ประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา หรือการแพทย์ ซึ่งเป็นรางวัลแรกของการประกาศผลรางวัลโนเบล ประจำปี 2566 ซึ่งตกเป็นของ ศ.ดร.กอตอลิน กอริโก ชาวฮังการี รองประธานอาวุโส บริษัทไบโอเอ็นเทค อาร์เอ็นเอ ฟาร์มาซูติคอล และศ.นพ. ดรู ไวส์แมน ชาวอเมริกัน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐ ผู้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)

โนเบลการแพทย์
ศ.ดร.กอตอลิน กอริโก และศ.นพ. ดรู ไวส์แมน

คณะกรรมการรางวัลโนเบล แถลงว่า การค้นพบ และดัดแปลงโครงสร้างโมเลกุล หรือนิวคลีโอไซด์บางส่วนของเมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ (mRNA) โดยใช้สารซูโดยูริดีน (pseudouridine) ที่เป็นองค์ประกอบของสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอที่พบในธรรมชาติ ทำให้ร่างกายของมนุษย์แทบไม่เกิดปฏิกิริยาต่อต้านสาย mRNA ที่ฉีดเข้าไปเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคเลย ทำให้เทคนิคนี้กลายมาเป็นพื้นฐานของการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพในที่สุด

“ผลงานการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของทั้งสอง ได้ช่วยรักษาชีวิตของผู้คนทั่วโลกนับล้าน ท่ามกลางวิกฤติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จนสังคมโลกสามารถเปิดประตูกลับสู่การดำเนินชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง และในปัจจุบันวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอยังถูกพัฒนาต่อไป เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคอื่น ๆ เช่นโรคมะเร็งอีกด้วย” ผู้แทนจากคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา หรือการแพทย์กล่าว

บีบีซี รายงานว่า เมื่อปี 2564 ศ.ดร.กอริโก และศ.นพ.ไวส์แมน เคยคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในสาขาการแพทย์มาแล้ว โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลนี้จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในส่วนของการพัฒนาสาย mRNA ที่มีความทนทานไม่แตกสลายง่าย และไม่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน จนเกิดการต่อต้านเมื่อถูกนำเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์นั้น มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งพยายามค้นหาเทคนิควิธีที่ใช้ได้ผลอยู่นานหลายสิบปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก mRNA เป็นโมเลกุลประจุลบที่มีโครงสร้างเปิดโล่งต่อการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมได้ ต่างจากโครงสร้างของดีเอ็นเอที่เป็นเกลียวปิดซึ่งแข็งแรงกว่า

โนเบลการแพทย์

จนกระทั่งถึงช่วงทศวรรษ 90 ศ.ดร. กอริโก ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนการวิจัย จนต้องสูญเสียตำแหน่งงานในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้มาพบกับ ศ.นพ.ไวส์แมน และได้เข้าร่วมทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ เพื่อคิดค้นวัคซีน mRNA ที่ป้องกันเชื้อเอชไอวี ซึ่งต่อมาเป็นพื้นฐานนำไปสู่การผลิตวัคซีนโควิดที่สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้ในระดับสูง

นักวิจัยทั้งสองจะได้รับเงินรางวัลร่วมกันทั้งหมด 10 ล้านโครนสวีเดน ส่วนพิธีมอบรางวัลโนเบลอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นที่กรุงสตอล์กโฮล์มในเดือนธันวาคมนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo