World News

มังกรปีกหัก!? บริษัทข้ามชาติแห่ย้ายฐานผลิตจากจีน สั่นคลอนสถานะ ‘โรงงานโลก’

ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา “จีน” ได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานโลก” แต่การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 กลับทำให้สถานะนี้สั่นคลอนอย่างหนัก

นโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ของจีน ในการสกัดกั้น และควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” กดดันให้บรรดาบริษัทต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญ กับการที่ไม่พึ่งพาประเทศหนึ่งประเทศใดเพียงแห่งเดียว ในด้านห่วงโซ่อุปทาน หรือ ซัพพลายเชน มากยิ่งขึ้น

อาชูทอช ชาร์มา ผู้อำนวยการวิจัย จาก ฟอร์เรสเตอร์ บริษัทด้านการวิจัยตลาด แสดงความเห็นว่า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานในระดับนี้ แต่แน่นอนว่าโควิด ทำให้เกิดการมองเห็นที่มากขึ้น และจุดชนวนให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น

ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐ ที่ยังคุกรุ่นอยู่ ประกอบกับมาตรการคุมโควิดของรัฐบาลปักกิ่ง ทำให้บรรดาบริษัทข้ามชาติต่างมองหาวิธีป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจมากกว่าที่เคย และทางเลือกแรก ๆ ที่หลายบริษัทเลือกใช้ คือ การย้ายฐานผลิต หรือกระจายการผลิต ออกมาจากจีน

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ อินเดีย เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และบังกลาเทศ กำลังก้าวขึ้นมาแทนที่โรงงานโลก อย่างจีน

โรงงานโลก

อินเดีย

อินเดียกำลังพยายามเอาชนะจีนในการผลิตระดับไฮเอนด์ ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่ และจำนวนประชากรที่อายุน้อย อินเดียจึงเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลแทนจีนในฐานะโรงงานของโลก ในสายตาของผู้ผลิตไอโฟน อย่างแอปเปิ้ล และผู้ผลิตชิปอีกหลายราย

แอปเปิ้ล ได้ย้ายการผลิตไอโฟนบางส่วน มาไว้ที่ รัฐทมิฬนาฑู และกรณาฏกะของอินเดียแล้ว ทั้งยังอยู่ระหว่างการสำรวจการย้ายการผลิตไอแพด มายังประเทศในเอเชียใต้แห่งนี้ด้วย โดยนักวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน คาดว่า ราว 1 ใน 4 ของการผลิตไอโฟน จะเกิดขึ้นในอินเดีย ภายในปี 2568

จูลี เกอร์เดอร์แมน ซีอีโอ เอเวอร์สตรียม แพลตฟอร์มด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงซัพพลายเชน ชี้ว่า อินเดียมีแรงงานจำนวนมาก มีประวัติการผลิตอย่างยาวนาน และรัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆและการส่งออก ทำให้หลายบริษัทพากันพิจารณาว่า การผลิตในอินเดีย อาจจะเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากจีน

อย่างไรก็ดี การเข้าลงทุนในอินเดีย ยังมีอุปสรรคสำคัญอยู่ เพราะแม้รัฐบาลจะส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ แต่การทำธุรกิจในประเทศนั้น ยากกว่าในจีน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบราชการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ที่ทำให้การตัดสินใจต่าง ๆล่าช้า

โรงงานโลก

เวียดนาม

ในฐานะประเทศคอมมิวนิสต์ เวียดนาม ก็เป็นเช่นเดียวกับจีน ที่เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2529 เปลี่ยนตัวเองจาก หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก สู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง ในเวลาเพียง 1 ชั่วอายุคนเท่านั้น

ในปี 2564 เวียดนามสามารถดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้มากกว่า 31,150 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 9% จากปีก่อนหน้า โดยราว 60% ของเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว ไปอยู่ที่ภาคการผลิตและการแปรรูป

จุดแข็งที่สำคัญของเวียดนามอยู่ที่การผลิตเครื่องแต่งกาย รองเท้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแอปเปิ้ล ได้ย้ายการผลิตไอโฟน บางส่วนมายังเวียดนามแล้ว และกำลังวางแผนที่จะย้ายการผลิตแมคบุ๊คบางส่วน มายังประเทศนี้เช่นกัน

บริษัทอื่นๆ ที่ย้ายสายการผลิตบางส่วนจากจีนมายังเวียดนาม รวมถึง ไนกี้ อาดิดาส และซัมซุง

โรงงานโลก

ไทย

ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยได้ยกระดับห่วงโซ่คุณค่าในการผลิต และเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีบริษัทข้ามชาติ เช่น โซนี่ และ ชาร์ป เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ

เมื่อปี 2562 โซนี่ ระบุว่า จะปิดโรงงานสมาร์ทโฟนในปักกิ่ง เพื่อลดต้นทุน และย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาที่ประเทศไทย เช่นเดียวกับ ชาร์ป ที่เปิดเผยในปีเดียวกันว่า ได้ย้ายการผลิตเครื่องพิมพ์บางส่วนมายังไทยแล้ว เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน

ไม่ใช่แค่บริษัทข้ามชาติเท่านั้น แม้แต่บริษัทจีนก็ยังย้ายซัพพลายเชนบางส่วนมายังไทย โดยผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ อย่าง จินโกโซลาร์ ในเซี่ยงไฮ้ กำลังย้ายฐานการผลิตมายังไทย เพื่อใช้ประโยชน์จาก ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และหลีกเลี่ยงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2563-2564 ไทยมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่า มาอยู่ที่ 455,300 ล้านบาท หรือประมาณ

โรงงานโลก

บังกลาเทศ 

ก่อนที่การล็อกดาวน์ เพราะโควิด-19 จะทำให้ภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหยุดชะงักนั้น บังกลาเทศ ถือเป็นดาวรุ่งในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งการทะยานขึ้นมานี้ มีสาเหตุหลักมาจากค่าแรงในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

เงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนของคนงานในบังกลาเทศคือ 120 ดอลลาร์ หรือน้อยกว่า 1 ใน 5 ของค่าแรงในกวางโจว ศูนย์กลางการผลิตทางตอนใต้ของจีน ที่ 670 ดอลลาร์

มอสตาฟิซ อุดดิน เจ้าของเดนิม เอ็กซ์เพิร์ท ผู้ผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศ ระบุว่า ต้นทุนวัสดุที่สูงขึ้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้บรรดาบริษัทเครื่องแต่งกาย มองหาแหล่งผลิตทางเลือกอย่างบังกลาเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตค่อนข้างต่ำ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่มยังเป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 85% ของยอดรวมการผลิตทั้งหมด และมีมูลค่าการส่งออกเมื่อปี 2564 มากกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากจีน

โรงงานโลก

มาเลเซีย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาเลเซียได้พยายาม ที่จะฉกฉวยโอกาส จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และสามารถดึงดูดโครงการอย่างน้อย 32 โครงการ ที่ย้ายจากจีนมายังมาเลเซีย

แม้กระทั่งก่อนที่จะเกิดโรคระบาด การลงทุนด้านเทคโนโลยีในมาเลเซีย ก็เพิ่มขึ้นจากค่าแรงต่ำ และความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน

ข้อตกลงสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารวมถึง ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ “ไมครอน” เข้าลงทุน 339 ล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2561 ทั้ง จาบิล ผู้ผลิตเคสไอโฟน ก็ขยายการลงทุนเข้ามาในมาเลเซียด้วย

ในปี 2564 มาเลเซียมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ 48,100 ล้านดอลลาร์ โดยที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเข้ามาลงทุนมากสุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo