World News

เปิด 3 ปัจจัย ทำ ‘วิกฤติซัพพลายเชน’ ส่อเค้าดีขึ้นครึ่งหลังปี 65

นักวิเคราะห์มอง ปัญหาซัพพลายเชนโลก อาจจะยืดเยื้อไปจนถึงช่วงครึ่งหลักของปี 2565 หลัง “วิกฤติโควิด” ทำให้หลายประเทศพร้อมใจล็อกดาวน์นาน 2 ปี จนทำให้เกิดปัญหาด้านการจัดหา และการขนส่ง ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก

“ออยเลอร์ แอร์เมส” บริษัทด้านการประกันสินเชื่อชั้นนำของโลก มองปัญหาซัพพลายเชนโลกว่า การระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด ประกอบกับนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน และความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผันผวนด้านการค้า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน อาจจะสร้างแรงกดดันให้กับซัพพลายชนอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์เคยออกมาเตือนว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอน อาจสร้างความเสียหายรอบใหม่ให้กับซัพพลายเชนโลก หลังจากที่ มาตรการเพื่อควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ส่งผลกระทบต่อการผลิต และการขนส่งสินค้าในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้

LINE ALBUM งานเพลทท้ายปี 2021 ๒๒๐๑๐๓

รายงานของออยเลอร์ แอร์เมส ชี้ว่า การหดตัวของปริมาณการค้าโลก ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 มีปัจจัยสำคัญที่มาจากปัญหาด้านภาคการผลิตถึง 75% ส่วนอีก 25% มาจากความตึงตัวในเรื่องโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแออัดของท่าเรือในจีน

แม้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปริมาณการค้าโลกเริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีความเสี่ยงที่อาจปรับตัวลดลงถึง 2 เท่า ผลมาจาก ความผันผวนด้านการค้า ที่ยังเกาะติดอยู่ ทั้งเรื่อง การระบาดของไวรัสโควิด สายพันธุ์โอไมครอน ที่อาจทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง

นอกจากนี้ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน ก็มีผลอย่างมากที่ทำให้ปัญหาด้านขนส่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้อย่างง่าย ๆ ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นชัดเจน คือ การระบาดของโควิด-19 ที่เมืองเจ้อเจียง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของท่าเรือหนิงโป โจวซาน ท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สุดในโลก ที่ตั้งอยู่ในเมืองนี้ เนื่องจากแรงงานท่าเรือหลายหมื่นคนต้องถูกกักตัว ทำให้การทำงานติดขัดอย่างหนัก ทั้งยังมีความเป็นไปได้ ที่จะเกิดความผันผวนทางการค้า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

อย่างไรก็ดี ออยเลอร์ แอร์เมส ชี้ว่า มีอยู่ 3 ปัจจัย ที่อาจทำให้การค้าโลกเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้ ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ประกอบด้วย ความต้องการของผู้บริโภคที่ซบเซาลง ปริมาณสินค้าคงคลังที่แข็งแกร่งขึ้น และความสามารถในการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

shutterstock 1163980726

  • ความต้องการผู้บริโภคซบเซา

แม้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้า โดยเฉพาะสินค้าคงทนในระดับสูง เนื่องจากเงินออมส่วนเกินที่สะสมไว้ในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ยังไม่หมดลง อันเป็นผลมาจากมีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบ เพื่อกระตุ้นความต้องการ มากกว่าการจัดหา ของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว มีการใช้เม็ดเงินก้อนโตเทียบเท่ากับ 25% ของจีดีพี

นอกจากนี้ ความเคยชินกับมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ภาคครัวเรือน เริ่มสามารถปรับตัวกับการจับจ่ายใช้สอยได้ปกติ แม้อาจต้องเผชิญหน้าปัจจัยลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งต่อไปก็ตาม

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเงินออมส่วนเกินเริ่มลดลง จากการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังผ่านจุดสูงสุดของความต้องการในการบริโภคไปแล้ว จะทำให้ผู้คนกลับมาระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยอีกครั้ง ลดแรงกดดันต่อการจัดหาสินค้าต่าง ๆ

  • ปริมาณสินค้าคงคลังแข็งแกร่งขึ้น

หลังจากมีการลดปริมาณการสำรองสินค้าในช่วงต้นปี 2564 บรรดาผู้ผลิตต่างเร่งรีบเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลัง เพื่อรับมือกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

การเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และระดับสินค้าคงคลังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยระยะยาวก่อนเกิดวิกฤติอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน แม้จะยังมีปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็ตาม

shutterstock 708817909

  • ความสามารถในการขนส่งเพิ่มขึ้น

คำสั่งซื้อเรือคอนเทนเนอร์ใหม่ทั่วโลก ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 6.4% ของกองเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่า เรือขนส่งสินค้าลำใหม่ น่าจะเข้าประจำการ และเดินเรือได้ในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2565 ประกอบกับ การที่รัฐบาลสหรัฐ มีแผนที่จะทุ่มเงินลงทุน 17,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในท่าเรือ และเส้นทางเดินเรือในประเทศ จึงน่าจะช่วยบรรเทาภาวะตึงตัว ในภาคการขนส่งลงได้อย่างมาก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo