World News

‘อาเซียน-ลาตินอเมริกา’ จ่อผงาด ‘แหล่งซัพพลายเชนใหม่’ หลังยุคโควิด

ผู้เชี่ยวชาญชี้ ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลาตินอเมริกา กำลังจะกลายมาเป็นแหล่งซัพพลายเชนสำคัญของโลก จากการที่บรรดาบริษัทข้ามชาติรายต่างๆ มีแนวโน้มที่จะตีตัวออกห่าง “จีน” หลังการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด

วีโอเอ รายงานว่า นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 80 เป็นต้นมา จีนสามารถดึงดูดธุรกิจต่างชาติ เข้ามาตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าแรงถูก และผลผลิตสูง

แต่การระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังทำให้บทบาทของจีน ในฐานะ “โรงงานโลก” ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จากการที่บรรดาบริษัทข้ามชาติทั้งจากสหรัฐ และยุโรป เลือกที่จะจัดหาชิ้นส่วนการผลิต แรงงาน และการประกอบสินค้าในประเทศบ้านเกิด สำหรับสินค้าไฮเอนด์ หรือเบนเข็มไปยังประเทศใกล้เคียง หรือที่ใดก็ได้ ที่รัฐให้การอุดหนุน

เจแยนท์ เมนอน นักวิชาการอาวุโส สถาบัน ISEAS ที่สิงคโปร์ ชี้ว่า ประเทศที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จีน กำลังเผชิญกับความยากลำบาก อีกทั้งมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้เป็นศูนย์ของจีน ยังส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อระบบซัพพลายเชนด้วย

shutterstock 1094326709

ตัวเลือกซัพพลายเชน นอกจากจีน

ในขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย ต่างพากันยกเลิกข้อจำกัดด้านการระบาดใหญ่ในปีนี้ แต่จีนกลับยืนกรานที่จะปิด 2 เมเมืองใหญ่ของประเทศ จนส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อโรงงาน ทั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็สูงขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของการขนส่ง และการขาดแคลนแรงงาน

ดักลาส แบร์รี่ รองประธานด้านการสื่อสาร สภาธุรกิจสหรัฐ-จีน อธิบายว่า บริษัทสหรัฐในจีนกระจายความเสี่ยง ด้วยการขยายการผลิตไปที่อื่นด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ ทางการจีนยังบังคับใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ และความขัดแย้งทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

เขาบอกด้วยว่า การขึ้นค่าแรงในจีน ก่อนเกิดโควิดระบาด บวกกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ที่มีการเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ไทย และมาเลเซียได้ประโยชน์จากการปรับตัวของซัพพลายเชน

ขณะที่ เมนอน จากสถาบัน ISEAS กล่าวเสริมว่า เวียดนามขึ้นแท่นเป็นผู้ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะคุณภาพแรงงาน นโยบายการสนับสนุนการทำธุรกิจ และเครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรี เห็นได้จากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ ๆ อย่าง ซัมซุง ของเกาหลีใต้ และอินเทล ของสหรัฐ ได้เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนี้ ทั้งเวียดนามยังมีโรงงานประกอบ และผลิตรถยนต์ของแบรนด์ต่างชาติด้วย

ส่วนมาเลเซียดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีได้มากกว่า เช่น บริษัทในเครือของผู้ผลิตชิปรายใหญ่ ของฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี  ที่ทำสัญญาตั้งโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า กับบริษัท Dagang NeXchange ของมาเลเซีย

ทางด้าน ราจิฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า นอกจากมาเลเซียแล้ว ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างดึงดูดบริษัทต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุน ด้วยค่าแรงงานการผลิตที่อยู่ในระดับกลาง

บิสวาส ยังเห็นพ้องกับเมนอนว่า แม้บริษัทต่างชาติจะขยายฐานการผลิตในประเทศอื่น ๆ แต่บริษัทเหล่านี้จะยังคงเพิ่มฐานการผลิต และตั้งโรงงานในจีนต่อไป เพราะตลาดจีนมีลูกค้าหลายพันล้านคน

แต่ช่วงโควิดระบาด ทำให้ผู้ผลิตเห็นถึงความสำคัญในการกระจายความเสี่ย งและการสร้างความแข็งแกร่งของซัพพลายเชน โดยเฉพาะการตั้งโรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งนอกทวีปเอเชีย เพื่อลดผลกระทบนั่นเอง

shutterstock 2112208565

ลาตินอเมริกาอีกทางเลือกที่นักลงทุนสนใจ

สำหรับภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยเฉพาะประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ เช่น เม็กซิโก นั้น เป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนอเมริกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 90 และยังคงมีความได้เปรียบด้านการค้าการลงทุนในหลายมิติ

อีแวน เอลิส  จากสถาบัน US Army War College Strategic Studies Institute ชี้ว่า เม็กซิโกจะได้รับประโยชน์จากกระแส near-shoring หรือ การซื้อสินค้าหรือพึ่งพาฐานการผลิตจากประเทศใกล้เคียง เพราะมีพรมแดนติดกับสหรัฐ แถมยังใช้เวลาโซนเดียวกัน อีกทั้งกำลังแรงงานมีการศึกษาระดับหนึ่งด้วย จึงให้บริษัทของทั้งสองชาติค้าขายสะดวก อย่างไรก็ดี ปัญหาอาชญากรรมและค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่สูงยังถือเป็นอุปสรรคอยู่

ด้าน แบร์รี่ จากสภาธุรกิจสหรัฐ-จีน เสริมว่า เม็กซิโกจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมได้ เพราะสินค้าที่ผลิตจากที่นั่น จะเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐ ด้วยสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ

ส่วนอีกชาติหนึ่งในแถบลาตินอเมริกาที่ได้รับความสนใจ คือ บราซิล เนื่องจากมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่น สินแร่ และน้ำมันปิโตรเลียม อีกทั้งบราซิลยังเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ จึงทำให้หลาย ๆ บริษัทเข้ามาทำธุรกิจและตีตลาดขายสินค้าให้แก่ประชากรชาวบราซิลราว 212 ล้านคนด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo