ไทย เดินหน้าขับเคลื่อน “ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก” อย่างเป็นรูปธรรม จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว การพัฒนารูปแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง หวังแสดงเจตนารมณ์ในเวทีโลก และแสดงจุดยืนแก้ปัญหาโลกร้อน พร้อมตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หลังการประชุมระดับผู้นำการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ณ เมืองชาร์ม เอลชีค อียิปต์ ที่มีกว่า 170 ประเทศเข้าร่วม จบลง ประเทศไทยยังวางยุทธศาสตร์ เพื่อหาทางออกการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของปัญหาโลกร้อน
https://www.youtube.com/watch?v=73A-bz80hss
ในส่วนของประเทศไทย ได้แสดงเจตจำนงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และได้ทำตามที่ได้เคยให้คำมั่นไว้ในการประชุม COP 26 พร้อมจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065
ทั้งยังมีเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่เพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็น 40% ภายในปี 2030 หากได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมาไทยกำลังรับมือกับผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขึ้นมา ผ่านการปรับโครงสร้างส่วนราชการภายใน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปรับปรุงหน้าที่ และะอำนาจ เปลี่ยนชื่อมาจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
มีการตัดโอนหน่วยงานระหว่างกรมในกระทรวง โดยโอนกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้ม (สผ.) เข้ามาเป็นหน่วยงานภายใต้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โครงสร้างของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ
- กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก
- กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
- ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
และมีหน่วยงานกลุ่มตรวจสอบภายในและกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร โดยมีอัตรากำลัง ประกอบด้วย ข้าราชการ จำนวน 219 คน พนักงานราชการ จำนวน 309 คน และลูกจ้างประจำ จำนวน 19 คน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘Thailand Pavilion’ เวที COP27 ชูผลงาน ‘แก้ปัญหาโลกร้อน’
- ทส. เปิด ‘Thailand Pavilion’ เวที ‘COP 27’ โชว์ผลงานไทย แก้โลกร้อน
- ‘วราวุธ’ ขึ้นเวที ‘COP27’ โชว์จุดยืนไทยแก้ปัญหาโลกร้อน จี้นานาชาติร่วมมือกัน ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้