Stock

‘เอ็มเคสุกี้’ ฐานลูกค้ายังแน่น ยอดขายเพิ่มเท่าตัว

ถ้าจะพูดถึงเชนร้านอาหาร ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน หลายคนคงนึกถึงชื่อของ “เอ็มเคสุกี้” เป็นชื่อแรก ๆ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การบริการงานของ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น M ที่ไม่ได้มีแค่ร้านเอ็มเคสุกี้เท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ดังอีกมากมาย เช่น ยาโยอิ และแหลมเจริญ

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/65 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 4,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 106.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังทำยอดขายสาขาเดิมเติบโต 101.20% อีกด้วย

เอ็มเคสุกี้

สาเหตุหลักมาจากการผ่อนคลายมาตรการร้านอาหารมากขึ้น ผู้คนสามารถกลับมารับประทานอาหารที่ร้านได้ตามปกติ ส่งผลให้ภาพรวม 9 เดือนปี 2565 บริษัทมีรายได้เพิ่มเป็น 11,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.4% จากปีก่อน

โครงสร้างรายได้ของบริษัท เมื่อแยกตามแบรนด์ร้านอาหาร ส่วนใหญ่กว่า 7% มาจากรายได้ของ เอ็มเคสุกี้ รองลงมา 19% เป็นของ ยาโยอิ 5% เป็นของ แหลมเจริญ และส่วนที่เหลืออีก 2% จะมาจากร้านอาหารอื่น ๆ เช่น มิยาซากิ ฮากาตะ ราเมน ณ สยาม เลอ สยาม และบิซซี่ บ็อกซ์

จุดที่น่าสนใจก็คือ ในปีนี้ รายได้ที่เกิดจากการรับประทานในร้านอาหาร (Dine-in) กลับมาเติบโตเป็นสัดส่วนหลักมากกว่า 80% ได้อีกครั้ง หลังจากช่วงปีก่อน ปรับลดลงเหลือเพียง 60% ทำให้เบียดรายได้จากช่องทาง TakeAway และ Delivery เหลือ 13% และ 8% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาที่ดีของเครือร้านอาหารในกลุ่ม ที่มุ่งเน้นเจาะกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก

ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 3/65 อยู่ที่ 408 ล้านบาท พลิกจากช่วงปีก่อนที่มีผลขาดทุน -257 ล้านบาท และหนุนให้ 9 เดือนแรก บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,118 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน -268 ล้านบาท เป็นผลจากยอดขายที่มากขึ้น ประกอบกับบริษัทได้ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อชดเชยกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า M รายงานกำไรไตรมาส 3/65 ที่ 408 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3% ดังนั้น จึงเพิ่มคาดการณ์กำไรหลักปี 2565 ขึ้น 18% เป็น 1.600 ล้านบาท และ 7% ในปี 2566 เป็น 2,200 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายแบบรับประทานที่ร้าน ขยายตัวดีกว่า ทำให้การเติบโตของยอดขายแข็งแกร่งขึ้นมาก

เอ็มเคสุกี้

อย่างไรก็ดี ต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น อาจกดดันผลกําไร โดยเชื่อว่าแรงกดดันด้านต้นทุนมาจาก “เป็ดย่าง” ซึ่งเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของ M ที่มีสัดส่วนรายได้ 20% เนื่องจากราคาเป็ดปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 10% จากไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าราคาเป็ดในไตรมาส 4/65 จะทรงตัวต่อไป ส่งผลให้ EBITDA Margin ไตรมาส 4/65 ทรงตัวได้

แต่ในเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารของไทย จะผ่อนคลายลงเล็กน้อย ซึ่งน่าจะช่วยประคอง EBITDA Margin ของ M ได้พอสมควร

จึงแนะนำ “ซื้อ” หุ้น M ราคาเป้าหมายที่ 70 บาท เพราะมองว่า จะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศ ด้วยเครือข่ายร้านอาหารครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันหุ้น M ซื้อขายที่ P/E ปี 2566 ที่ 23.8 เท่า ถูกที่สุดในกลุ่มร้านอาหารไทย คาดอัตราเงินปันผลตอบแทน 3.4% ต่อปี ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน โดยมีความเสี่ยงที่สำคัญคือแรงกดดันด้านต้นทุนอาหารที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น

บล. พาย ประเมินว่ากำไรไตรมาส 4/65 ของ M จะแตะจุดสูงรอบใน 12 ไตรมาส โดยเติบโตทั้ง YoY และ QoQ หนุนจากช่วงไฮซีซั่น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ของเดือนตุลาคมยังเป็นบวกทั้ง 3 แบรนด์ ได้แก่ MK เติบโต 21% ยาโยอิเติบโต 15% และแหลมเจริญซีฟู้ด เติบโต 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

คงคําแนะนํา “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 64 บาท หนุนจากการเติบโตของ SSSG ที่แข็งแกร่ง การปรับราคาขายที่เหมาะสมขึ้น และการเติบโตในระดับสูงในไตรมาส 4/65 พร้อมทั้งเชื่อว่าว่า MK Restaurants Group จะเป็นหนึ่งในกิจการที่ได้ประโยชน์ก้อนโตจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สุดท้ายนี้ก็ต้องบอกว่า “เอ็มเคสุกี้” คงเป็นธุรกิจร้านอาหาร ที่มีความแข็งแกร่งของแบรนด์ และมีฐานลูกค้าของตัวเองที่เหนียวแน่น ซึ่งให้ความไว้ใจกันมาอย่างยาวนาน แม้ตอนนี้จะไม่ได้เติบโตแบบหวือวามากนักแล้ว เพราะการเข้ามาแย่งชิงตลาดของคู่แข่งรายใหม่จำนวนมาก

เอ็มเคสุกี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน